(เพิ่มเติม) กรมป้องกันฯประสาน 7 จ.ภาคใต้ระดมฉีดพ่นน้ำเพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตหมอกควัน

ข่าวทั่วไป Thursday October 8, 2015 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์หมอกควันจากไฟป่าบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ที่พัดปกคลุมในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคใต้ว่า จากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศกับกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 เวลา 9.00 น. พบว่า 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 47 - 201 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งคุณภาพอากาศในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลางถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยจังหวัดภูเก็ตมีคุณภาพอากาศเกินเกณฑ์มาตรฐานและอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ค่า PM10 201 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสาน 7 จังหวัดภาคใต้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควัน ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ รวมถึงระดมรถบรรทุกน้ำฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ ตลอดจนบูรณาการทุกภาคส่วนสนธิกำลังและระดมวัสดุอุปกรณ์ควบคุมปัญหาหมอกควัน พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพอนามัย และติดตามข้อมูลข่าวสารคุณภาพอากาศ รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำโดยเคร่งครัด ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชน งดเว้นการเผาขยะ เศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์หมอกควันมิให้วิกฤตมากขึ้น

สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุม ให้หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพราะจะสูดดมฝุ่นละอองจำนวนมากเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เจ็บป่วยได้ รวมถึงใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันมิให้สูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ส่วนผู้ขับขี่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ เพราะทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางอยู่ในระดับต่ำ

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคใต้ว่า ได้ประสานไปยังรัฐบาลอินโดนีเซียแล้ว ซึ่งได้รับแจ้งว่ากำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่มีข้อขัดข้องในบางประการ ซึ่งเชื่อว่าทางอินโดฯก็ไม่อยากให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากการบุกรุกป่า ที่เป็นปัญหาทั่วโลกประสบอยู่ เพราะประชาชนที่มีรายได้น้อยก็มุ่งที่จะทำการเกษตร

ดังนั้น จะต้องปรับปรุงและสร้างวิสัยทัศน์ให้ความรู้แก่ประชาชน ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ แต่ยังคงมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและอ้างว่าหากไม่ทำนาก็จะไม่มีผลผลิตข้าวเพื่อการบริโภค ซึ่งต้องชี้แจงว่า หากมีปริมาณน้ำเพียงพอ รัฐบาลไม่เคยห้ามการเพาะปลูก แต่หากทราบแล้วว่าเมื่อปลูกก็จะได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจและอย่าขยายความเข้าใจผิดออกไป ขณะที่เรื่องการทุจริตก็ขอให้ส่งหลักฐานและดำเนินการตามขั้นตอนเข้ามา ตนเองก็จะสั่งการตรวจสอบทั้งหมด ทั้งนี้ขออย่าให้ใช้ข้อมูลที่คลุมเครือผ่านทางโซเซียลมีเดีย เพราะจะสร้างความเข้าใจผิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ