อย่างไรก็ตาม หลายหน่วยงานกำลังเร่งระดมสรรพกำลังเพื่อแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งด้านการลดปริมาณหมอกควัน การดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน การให้ข้อมูลข่าวสาร และการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน
ล่าสุดกองทัพอากาศได้จัดเครื่องบินลำเลียงขึ้นปฏิบัติภารกิจการบินโปรยละอองน้ำสะอาดที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เพื่อลดปริมาณหมอกควันและลดปัญหามลพิษในอากาศร่วมกับจังหวัดสงขลา และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 จังหวัดสงขลา โดยเน้นบริเวณเขตพื้นที่ชุมชนที่มีประชาชนอาศัยหนาแน่น และจะบินปฏิบัติภารกิจจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวง โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สงขลา และ จ.กระบี่ ใช้เครื่องบินรวม 4 ลำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
ด้านกระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งหน้ากากอนามัยไปยัง 7 จังหวัด เพื่อแจกให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และจัดส่งหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษให้ผู้ป่วย 3 โรคที่อาการกำเริบง่าย คือ โรคหอบหืด โรคหัวใจ และโรคถุงลมโป่งพอง และสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดติดตามประเมินผลและดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ กองทัพอากาศยังได้จัดเครื่องบินธุรการ อีกจำนวน 1 ลำ บินกระจายเสียงให้คำแนะนำประชาชนในการปฏิบัติตัวภายใต้สถานการณ์หมอกควัน และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ได้ประชาสัมพันธ์รายงานข้อมูลให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่การประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเผาป่า และเป็นต้นทางของปัญหา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้แจ้งประสานไปยังสำนักงานเลขาธิการอาเซียนและสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อให้รับทราบสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยขอให้อินโดนีเซียดำเนินมาตรการเพื่อลดการเผาและหมอกควันอย่างเร่งด่วนตามข้อกำหนดของข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยแจ้งว่า ทางการอินโดนีเซียกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมปลายเดือน ต.ค.นี้ที่ประเทศเวียดนาม
“นายกฯ เป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งทำงานเต็มที่ทั้งการฉีดละอองน้ำ ทำฝนเทียม แจกจ่ายหน้ากากอนามัย และพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งขอให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เช่น หลีกเลี่ยงการออกสู่พื้นที่โล่งแจ้งโดยไม่จำเป็น แต่หากจำเป็นที่ให้สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันฝุ่นละออง หรือใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด ๆ ปิดจมูก จะช่วยกรองได้อีกชั้นหนึ่ง
นอกจากนี้ ท่านยังเป็นห่วงเรื่องนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันที่เสียชีวิตจากพิษแมงกะพรุนที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จึงได้สั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประสานงานไปยังโรงแรมที่พักและผู้ประกอบการท่องเที่ยว ให้เพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว เช่น จัดทำสัญลักษณ์พื้นที่เสี่ยงอันตรายให้ชัดเจน ติดตั้งตาข่ายในทะเลเพื่อกันแมงกะพรุน ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวสวมเสื้อผ้ามิดชิด และจัดให้มีจุดปฐมพยาบาลเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทั้งจากเหตุจมน้ำหรือได้รับพิษจากสัตว์ทะเล และติดป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วย"