สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ นั้น ครอบคลุมในหลายกรณี ทั้งกรณีที่ผู้ประกันตนเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ ว่างงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และที่สำคัญคือ มีการกำหนดมาตรการตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลความโปร่งใสและความมีมาตรฐานจากเดิมที่ไม่เคยมีมาก่อน
หากผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย จะได้รับเพิ่มค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ในกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ โดยที่ปัจจุบันไม่ครอบคลุมในส่วนนี้ส่วนผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรังหรือทุพพลภาพและถึงแก่ความตาย จะได้รับเพิ่มสิทธิประโยชน์ แม้ส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิ ส่วนผู้ประกันตนที่ทำให้ตนเองบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และตาย หรือสูญเสียสมรรถภาพทางร่างกายไม่ถึงร้อยละ 50 ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทน จากเดิมไม่ได้รับสิทธิ
ขณะที่ผู้ทุพพลภาพก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่สำนักงานประกันสังคมได้แก้ไขกฎหมายเพื่อขยายความคุ้มครองผู้ทุพพลภาพ ส่งผลให้ผู้ทุพพลภาพ 2 กลุ่มได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน คือ กลุ่มหนึ่งได้รับสิทธิประโยชน์เพียง 15 ปี และอีกกลุ่มได้รับตลอดชีวิต ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตลอดชีวิตเท่าเทียมกัน
กรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ๆ ละ 13,000 บาท รวมกับเงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรอายุ 0 - 6 ปี มีสิทธิได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน เหมาจ่ายรายเดือน ๆ ละ 400 บาท ต่อคน
กรณีว่างงาน เพิ่มความคุ้มครองกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง เช่น โรงงานถูกน้ำท่วม ขณะที่ปัจจุบันผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกเท่านั้น
สำหรับเงินสงเคราะห์ผู้เสียชีวิต ถ้าจ่ายเงินสมทบมาอย่างน้อย 36 เดือน แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับ 50% ของค่าจ้างรายเดือน คูณด้วย 4 (เท่ากับค่าจ้างประมาณ 2 เดือน) จากเดิมจ่ายแค่ 1.5 เดือน แต่ถ้าผู้ประกันตน จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือน ให้จ่าย 50% ของค่าจ้าง คูณด้วย 12 (เท่ากับค่าจ้างประมาณ 6 เดือน) จากเดิมจ่ายแค่ 5 เดือน
“พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลความโปร่งใส ได้มาตรฐาน และผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการประกันสังคม จะต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบที่กำหนด และต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ด้วย ทั้งนี้ ประชาชนหรือผู้ประกันตนที่ต้องการตรวจสอบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม หรือเว็บไซต์ http://www.sso.go.th และสายด่วน 1506"โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว