อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รณรงค์ให้ประชาชนทำลายแหล่งลูกน้ำยุงลายทุก 7 วัน ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก โรงพยาบาล เพื่อลดจำนวนยุงลาย และให้โรงพยาบาลทุกแห่งเข้มงวดการตรวจรักษาโรคไข้เลือดออกเพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ ในระดับพื้นที่ใช้กลไกการทำงานร่วมกันของอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสำรวจกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายติดต่อกันทุกสัปดาห์ตลอดปี 2558 ค้นหาผู้ป่วยโดยทีมเคลื่อนที่เร็วร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ และทีมหมอครอบครัวดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยจะรีบส่งไปรักษาทันทีและรายงานให้ สนง.สาธารณสุขทราบภายใน 24 ชม. รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนดำเนินการตามมาตรการ 6 ป. คือ ป้องกันไม่ให้ยุงกัด ปิดภาชนะที่เก็บน้ำ เปลี่ยนน้ำในแจกันทุก 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำ ปรับปรุงสภาพแวดล้อม และปฏิบัติจนเป็นนิสัย
สำหรับประชาชนที่มีอาการไข้สูง มีรอยจุดแดง ๆ ตามตัว ปวดศีรษะและเนื้อตัว เป็นเวลา 4-5 วัน แม้กินยาลดไข้แต่อาการไม่ดีขึ้น ให้รีบประสานไปยัง รพ. ใกล้บ้าน หรือ รพ.ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลได้ตลอดเวลา ตลอดจนศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกได้ที่ เว็บไซต์กรมควบคุมโรค www.ddc.moph.go.th หรือโทรสายด่วน กรมควบคุมโรค 1422
"นายกฯ ได้ติดตามสถานการณ์โรคไข้เลือดออกปีนี้ที่มีผู้ป่วยมากกว่าปกติ จึงได้กำชับให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานท้องถิ่นดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีฝนตกและน้ำท่วมขัง โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิดโรคเป็นอันดับแรก เช่น การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและเก็บกวาดบ้านให้สะอาด และเมื่อพบผู้ที่มีไข้สูงให้รีบไปพบแพทย์ หรือแจ้ง อสม. และทีมหมอครอบครัว เพื่อออกสอบสวนและควบคุมโรคทันที ซึ่งจะช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว