โดยที่ จ.ระยอง มีน้ำท่วมขังใน 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองระยอง, จ.นครนายก น้ำจากแม่น้ำนครนายกล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านนา และอำเภอองครักษ์ รวม 2 ตำบล 10 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบประมาณ 120 หลังคาเรือน, จ.ปราจีนบุรี น้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรีล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอศรีมหาโพธิ์ และอำเภอบ้านสร้าง รวม 15 ตำบล 2 เทศบาล 40 หมู่บ้าน 5 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 469 หลังคาเรือน, จ.อุบลราชธานี น้ำจากแม่น้ำมูลล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนวังแดง อำเภอเมืองอุบลราชธานี, จ.กำแพงเพชร เกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอขาณุวรลักษบุรี อำเภอคลองขลุง และอำเภอเมืองกำแพงเพชร
จ.ปทุมธานี มีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอลำลูกกา, จ.นครสวรรค์ น้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่วงก์ อำเภอลาดยาว และอำเภอเมืองนครสวรรค์ ขณะที่อำเภอบรรพตพิสัย ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตร, จ.พิจิตร น้ำจากจังหวัดกำแพงเพชรไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตรในอำเภอบึงนาราง ซึ่งสถานการณ์โดยรวมทั้ง 8 จังหวัดไม่มีฝนตกในพื้นที่ ระดับน้ำลดลง คาดว่าหากไม่มีฝนตกเพิ่มจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน
ทั้งนี้จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง และลมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมบริเวณอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีฝนเล็กน้อย ยกเว้นภาคใต้จะมีภาวะฝนตกหนักบางแห่ง ปภ.จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภาวะฝนตกหนัก โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกต่อเนื่องนั้น ขณะนี้คลองส่วนใหญ่มีระดับน้ำเพิ่มสูง ประกอบกับเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง หากมีฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วงดังกล่าว อาจทำให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างล่าช้า ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังพื้นผิวการจราจรและบริเวณจุดอ่อนในพื้นที่ต่างๆ ดังนั้น ปภ.ได้จัดตั้งศูนย์ประสานการปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน เพื่อเชื่อมโยงการปฏิบัติงานกับกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด
รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต(ERT) จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี เขต 2 สุพรรณบุรี เขต 3 ปราจีนบุรี และเขต 16 ชัยนาท ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และออกปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันอันตรายจากพายุลมแรง กรณีฝนตกหนักและมีรถเสียจอดกีดขวางเส้นทาง ได้ประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยทหาร ตำรวจ(บก.02) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในการช่วยเหลือให้บริการซ่อมรถ