นายกฯวอนปชช.-ทุกภาคส่วนสร้างนิสัยประหยัดน้ำ-เร่งสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร

ข่าวทั่วไป Saturday October 17, 2015 10:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ"ว่า เรื่องสถานการณ์น้ำ ผมอยากให้ประชาชนทุกคน มีความตระหนักรู้ ถึงสถานการณ์อย่างแท้จริง ไม่ได้ต้องการสร้างความตื่นตระหนก แล้วก็เป็นการเตรียมการรับมือปัญหา ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต รัฐบาลจำเป็นต้องให้ข้อเท็จจริงในปัจจุบันนะครับกับทุกภาคส่วน เพราะทรัพยากรน้ำเรานั้นมีจำกัด สร้างเองไม่ได้ เกิดขึ้นเองไม่ได้ แต่เราสามารถบริหารภายใต้ความขาดแคลนได้ ปัจจุบันนั้นเราต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ที่ผ่านมาถึงจะมีฝนตกลงมาบ้าง มีพายุอะไรก็แล้วแต่ แต่ส่วนมากตกบริเวณท้ายเขื่อน ตกนอกพื้นที่ที่มีอ่างเก็บน้ำ ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำ ไว้ได้ทั้งในเขื่อน และนอกเขื่อน

ประกอบกับต้นน้ำมีการตัดไม้ทำลายป่า แล้วก็ในพื้นที่ทั่วไป ทำให้ดินไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ ตอนนี้ก็ใกล้จะหมดฤดูฝนแล้ว แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่เราตั้งเป้าไว้นะครับ ที่ผ่านมานั้นรัฐบาลได้เตรียมการอย่างดีที่สุด ในการที่จะจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำแห่งใหม่ ในการรองรับน้ำในฤดูแล้งที่กำลังใกล้จะหมดลง ซึ่งความพยายามต่างๆ ประสบผลดีอยู่บ้างนะครับ แต่เราก็ยังวางใจไม่ได้ ในการใช้น้ำในปีหน้า คือปี 2559 รัฐบาลต้องดูแลน้ำต้นทุนสำหรับภาคการเกษตร ทั้งในและนอกพื้นที่ชลประทาน ภาคอุตสาหกรรม การผลักดันน้ำเค็ม เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์บริเวณปากอ่าว และที่สำคัญที่สุด คือ น้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ประจำวันของพวกเราทุกคน ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะขอความร่วมมือ จากทุกภาคส่วนมีดังนี้

(1) การประหยัดน้ำ ในทุกๆ กิจกรรม และทำให้เป็นนิสัยเลยครับ โดยเฉลี่ยคนไทยใช้น้ำ 120 ลบ.ม./คน/วัน ถือว่าสูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียนเลย หาก 70 ล้านคน ช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำ ให้ลดลง ก็จะช่วยได้มาก

(2) คือการขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกร ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกข้าว หรือพืชที่ใช้น้ำมาก มาเป็นการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยอื่นๆ หรือการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ และการประมงตามแหล่งน้ำที่ได้จัดเตรียมไว้นะครับ ก็จะช่วยลดความเสี่ยง ความเสียหายของพืชผล จากภาวะขาดแคลนน้ำในปีหน้าได้ และอาจจะเป็นอาชีพใหม่ที่มีรายได้มากขึ้น ทั้งนี้ การใช้น้ำภาคเกษตรกรรม ที่นำน้ำไปใช้นั้น มีสัดส่วนสูงสุด ประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำต้นทุน ผมได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานในพื้นที่ได้ลงพื้นที่ ให้ความรู้ ให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ให้ครบวงจร ไปจนถึงเรื่องการตลาดด้วยนะครับ การปรับเปลี่ยนพืชอะไรก็ตาม ต้องมีการตลาดด้วย

ในส่วนของการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรอันนี้เป็นงานที่ต้องทำร่วมกันนะครับ ทำในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และพี่น้องประชาชน ล่าสุดนั้นคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนได้ประชุมหารือ เพื่อวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยนำนโยบายของหลายๆ อย่าง และนำหน่วยงานต่างๆ นั้นมาเชื่อมโยงกัน ให้เป็นระบบ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม หลายแนวคิดที่เสนอมาจากคณะกรรมการชุดนี้เป็นประโยชน์มาก ผมอยากจะเห็นเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นจริงๆ เช่น

(1) การใช้ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านทั่วประเทศ มาเป็นกลไกในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยให้เขาได้เรียนรู้จากผู้ร่วมอาชีพเดียวกัน ที่ประสบความสำเร็จ ท่านต้องช่วยเหลือและเรียนรู้จากกันและกัน พี่จูงน้อง เพื่อนจูงเพื่อน อะไรก็แล้วแต่นะครับ เพื่อจะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนของท่านเอง

(2) การใช้ผลงานวิจัยพัฒนา เพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ และเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ซึ่งเรื่องนี้ต้องเร่งทำนะครับอย่างจริงจัง ประเทศไทยเราลงทุนการวิจัยพัฒนาไปมาก เรามีงานวิจัยกว่า 230,000 โครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปี 2558 ที่ผ่านมานั้นเราได้ใช้งบวิจัยไปกว่า 20,000 ล้านบาท เรามีผลงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืนกว่า 510 โครงการ จนวันนี้เราต้องขับเคลื่อนเชื่อมโยงงานวิจัยเหล่านั้น ให้มรการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตการเกษตรให้ได้นะครับ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเสียที วันนี้นั้นเกษตรกรไทยเราต้องเป็นเกษตรกรยุคใหม่ สร้างผลผลิตมีคุณภาพ มีความแตกต่าง เพื่อไม่ให้ถูกกดราคาจากพ่อค้า หรือจากตลาดโลก แล้วก็ให้เราอยู่รอดได้ในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

(3) คือการส่งเสริมด้านการตลาด ต้องมีความเข้าใจเรื่องของดีมาน และซัพพลาย ทั้งการสนับสนุนให้มีตลาดชุมชน ตลาดท้องถิ่น และตลาดนัดขายผลิตภัณฑ์อินทรีย์ และการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนสินค้า และการสนับสนุนตลาดส่งตรงนะครับ เพราะยิ่งเรามีตลาดเกิดขึ้นในชุมชนมากเท่าไหร่ เม็ดเงินก็จะหมุนเวียนในพื้นที่มากเท่านั้น จะเป็นการช่วยสร้างรายได้และการจ้างงาน ให้เกิดขึ้นในชุมชน และยังไม่ต้องเสียเวลา/เสียเงินขนส่งสินค้า เสียเงินค่าขนส่งเพื่อไปขายที่ไกลๆ ด้วยนะครับ แล้วก็

(4) การพัฒนาระบบ “การรับรองแบบมีส่วนร่วม" หรือParticipatory Guarantee System (PGS) ซึ่งระบบนี้ ริเริ่มขึ้นโดยสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ เป็นระบบที่สมาชิกกลุ่มผู้ผลิต/ชุมชน มีส่วนร่วม ในการตรวจสอบมาตรฐานผลผลิตของกันเองในพื้นที่ ทำให้เกิดความมั่นใจในสินค้าของตนในชุมชนนะครับ ในอนาคตซึ่งอาจจะต่อยอดไปสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมาตรฐานสินค้าส่งออกสร้างแบรนด์อะไรต่อไป

(5) การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา เช่นสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาจัดการเรียนการสอน หรือเปิดหลักสูตรด้านเกษตรยั่งยืน/เกษตรอินทรีย์ ครบวงจร ซึ่งก็จะเป็นการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ๆ และสนับสนุนการพัฒนา ด้านการเกษตร โดยใช้นวัตกรรมนะครับ ให้เกิดขึ้นเรื่อยๆไป

แล้วก็ 3. ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) อันนี้เป็นปัญหาสำคัญของชาติเป็นอย่างยิ่งนะครับ ที่อาจจะถูกละเลยปล่อยให้หมักหมม มาเป็นเวลานาน จนต้องให้องค์กรระหว่างประเทศ มากำหนด มีมาตรการกดดันต่อการประมงไทย รัฐบาลนี้ก็ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข โดยมี ศปมผ.(ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย) เป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหานั้น

ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมาก ต้องขอขอบคุณความทุ่มเทในการทำงานของเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ก็มีบางท่านไม่เข้าใจอยู่บ้าง หลายคนก็บอกว่าต้องดูแลพี่น้องชาวประมง ดูแลชีวิตความเป็นอยู่มาก่อน แต่อย่างไรก็ตาม มีผลกระทบแน่นอน จากการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะดูแลใครก่อนใครหลังก็ตาม เพราะงั้นเราต้องมีการจัดระเบียบด้านการประมงของไทย ให้เป็นไปตามหลักสากลด้วยนะครับ แล้วก็ดูแลพี่น้องประชาชนที่เกิดความเดือดร้อนไปด้วย ปัจจุบันนั้น ครม.ได้อนุมัติงบประมาณ วงเงินราว 230 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ประจำเรือ ไต๋เรือ นายท้าย และช่างเครื่อง ในการที่จะต้องหยุดทำการประมงชั่วคราว จนกว่าจะมีการดำเนินการทางเอกสาร การขึ้นทะเบียน การทำใบอนุญาตต่างๆ ให้ถูกต้องเสียก่อน ทั้งนี้การดำเนินการจ่ายเงินดังกล่าวนั้น ผมได้เน้นย้ำให้ดำเนินการในทันที ที่มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแล้ว ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักการ ความโปร่งใส

ส่วนเรื่องการรับตรวจสอบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา IUU จากผู้แทนสหภาพยุโรป ห้วง 13 – 22 ตุลาคมนี้ รัฐบาล โดย ศปมผ. ก็มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน อาทิ นโยบายการจัดการประมงทะเล พ.ร.ก.ประมง แผนปฏิบัติการแห่งชาติ แผนการตรวจสอบย้อนกลับ แผนการติดตามควบคุมเฝ้าระวัง และแผนป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ในเรือ เป็นต้นนะครับ ซึ่งผมมั่นใจว่าผลจะออกมานั้นน่าจะไปในทางที่ดีนะครับ ที่สำคัญที่สุด ก็คือ การทำให้ทุกอย่างถูกต้อง เป็นไปตามหลักสากล แล้วก็ดูแลพี่น้องชาวประมงด้วยนะครับ ซึงก็จะทำให้ระบบนิเวศน์และทรัพยากรทางทะเลของเรา มีความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้ไปชั่วลูกชั่วหลานนะครับ แล้วก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อีกด้วย

สำหรับประเด็นที่เราต้องเข้าใจร่วมกันก็คือการที่เราต้องระมัดระวังการขายสินค้าประมงในตลาดโลกด้วยนะครับ ซึ่งนับวันจะลำบากขึ้น เพราะมีการแข่งขันมากขึ้น มีกติกามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติกาทางด้านการประมง ในน่านน้ำเสรี ในทุกประเทศ ซึ่งปัจจุบันนั้นสินค้าของไทยมีมูลค่าหลายแสนล้านบาทนะครับ ถ้าเราไม่แก้ไขปัญหา IUU นี้ให้ได้ เราจะถูกกดดัน หรือถูกยกเลิกการซื้อสินค้าเหล่านั้นด้วยนะครับ เราจะไปขายใครล่ะ จับได้เท่าไร ก็ขายไม่ได้นะครับ บริโภคกันเองก็เหลือมากเกินไป ไม่มีรายได้อีกนะครับ เราต้องร่วมมือกันนะครับแก้ปัญหาด้วยกัน

4. ในการเดินหน้าประเทศไทย ตาม Roadmap ของรัฐบาล ในระยะที่ 1 ตั้งแต่การเข้ามายุติความขัดแย้งในวันที่ 22 พฤษภา 57 นะครับ เป็นการทำเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ที่สำคัญๆ ที่ส่งผลกระทบต่อปากท้องและชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนโดยตรง รวมทั้งในเรื่องของการลดความเลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ระยะที่ 1

ปัจจุบันเรากำลังเข้ามาอยู่ระยะที่ 2 ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการวางกฎ กติกาทางสังคม โดยได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องมีความเป็นสากล และสอดรับกับความเป็นไทย เพื่อที่จะแก้ปัญหา ขจัดความยุ่งยาก ความขัดแย้ง หรือติดกับดักทางการเมือง ติดกับดักประชาธิปไตย ที่สะสมมายาวนานให้ได้ รวมทั้งวางรากฐานที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้กับสังคมไทย ผ่านการปฏิรูป 11 ด้าน ตามที่ได้ประกาศเป็นจุดยืนของรัฐบาลและ คสช.ไปแล้ว ในการที่จะนำพาเปลี่ยนผ่านประเทศของเราเข้าไปสู่ ระยะที่ 3 ก็คือการมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่

ซึ่งต้องมีมีกลไกแก้ปัญหาทางตันทางการเมือง ที่พึ่งพาได้ ซึ่งอาจจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ก็ขอให้การแก้ปัญหาการเมืองด้วยทหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของประวัติศาสตร์ชาติไทย รวมทั้งต้องมีการปฏิรูปที่มีกรอบชัดเจน ที่ครอบคลุมทุกมิติการพัฒนาประเทศ และมียุทธศาสตร์ชาติ ระยะยาว 20 ปี ที่เป็นมากกว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะสั้น 5 ปีเท่านั้น ซึ่งจะเป็นเข็มทิศการบริหารประเทศของรัฐบาลต่อๆไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ การลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต้องการเห็นความชัดเจนจากภาครัฐ ที่ผ่านมานั้นอาจจะไม่ค่อยได้เห็น ก็ทำให้ประเทศชาติเสียโอกาส ไม่เอื้ออำนวยต่อ การไม่ร่วมมือกัน

เรามีโอการสในการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง เป็นฐานการผลิต เพราะเราไม่มีสิ่งต่างๆ ที่ผมพูดมา วันนี้เราก็ได้ทำให้เขาเห็นนะครับ ผมก็ได้พยายามไปพูดไปทำความเข้าใจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ให้เขาเห็น ให้เขาเชื่อมั่น และสิ่งนี้เราพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แก้ปัญหาเก่าๆ ที่เหลือยังทำไม่สำเร็จ อะไรก็แล้วแต่ก็หวังว่ารัฐบาลหน้าและต่อๆไปนะครับ จะมีการบริหารประเทศ ที่มีธรรมาภิบาล มีการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยมีกรอบการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติที่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจให้ความร่วมมือด้วยนะครับ

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการทำงานตาม Roadmap ระยะที่ 2 คือ การสื่อสารให้ตรงกันและต้องไม่ถูกบิดเบือน นะครับ ในทั้ง 2 ระดับ คือ ระดับนโยบาย ซึ่งในปัจจุบันมี “แม่น้ำ 5 สาย" หรือ 4 สาย บวก คสช. ก็แล้วแต่นะครับ มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งจะต้องสร้างความเข้าใจร่วมกัน ทั้งเรื่องเป้าหมาย บทบาท และการทำงานให้ประสานสอดคล้องกัน ทั้งนี้ สปท. สภาขับเคลื่อนประเทศ ต้องใช้ 11 ประเด็นปฏิรูปของ คสช. เป็นตัวตั้ง เป็นกิจกรรมหลัก แล้วนำประเด็นปฏิรูปและประเด็นพัฒนา อื่นๆ ของ สปช. (เดิม) มาหลอมรวมเอาไว้ ส่วน กรธ. ต้องมีแนวทางในการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ก็กล่าวไปหลายครั้งแล้วนะครับ ตัวท่านประธานก็กล่าวเองไปแล้วด้วย ก็คือ (1) การร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นสากลและเหมาะสมกับบริบทประเทศไทย (2) สร้างประชาธิปไตย ที่ส่งเสริมบทบาทหน้าที่พลเมือง ไม่ใช่กล่าวถึงเสรีภาพอย่างเดียว หรือเสรีภาพที่ไร้ขีดจำกัดอีกต่อไปนะครับ (3) แก้ไขปัญหาการเมืองในอดีต ป้องกันเผด็จการรัฐสภาและการทุจริตประพฤติมิชอบ มีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุล และการส่งเสริมธรรมาภิบาล และก็ (4) เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็น อย่างกว้างขวางตลอดระยะเวลาห้วงต่อไปนี้นะครับให้ทั่วถึงด้วย

สุดท้ายนี้ ในการส่งเสริมภาพลักษณ์และบทบาทของไทยในเวทีโลกนั้น ผมได้รับรายงานว่า อาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion) ในงาน World Expo ปีนี้ ซึ่งจัดตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม 2558 ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ที่ได้ปรับรูปลักษณ์การนำเสนอ จาก “ศาลาไทย" ที่ชาวโลกคุ้นเคย มาเป็น “งอบ" ที่ชาวนาไทยใช้ในการปลูกข้าว ในเวลาที่ต้องไปตากแดด กรำฝน นั่นแหละครับ ก็ใช้งอบเป็นสัญญาลักษณ์ในการแสดงครั้งนี้ ซึ่งเป็นการสื่อสารว่าประเทศไทยนั้นพร้อมที่จะเป็น “ครัวโลก" เพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรมนะครับ อาคารแสดงของเราสามารถประชันกับอาคารของประเทศต่างๆ กว่า 140 ประเทศทั่วโลก โดยสื่อยักษ์ใหญ่ของอิตาลี ต่างให้ความสนใจและโหวตให้เป็น 1 ใน 5 ของอาคารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น ในขณะที่ CNN ก็ยกให้ว่าเป็นการออกแบบอาคารจัดแสดง ที่น่าประทับใจที่สุด มีผู้เข้าคิวรอเข้าชมอย่างล้นหลาม เป็นเวลาหลายชั่วโมง ผมทราบว่าบางวันรอถึง 4 ชั่วโมง เฉลี่ยคือ 12,000 คน/วัน และสูงถึง วันละ 16,000 คน ในสัปดาห์แรก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ