สธ.ห่วงปชช.ป่วยโรคปอดบวมหลังปีนี้ยอดผู้ป่วยพุ่ง 1.6 แสนคน,เร่งรณรงค์ให้ความรู้

ข่าวทั่วไป Sunday October 25, 2015 14:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคปอดบวมเป็นโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรงเฉียบพลัน ทั่วโลกต่อปีมีรายงานเสียชีวิต 1.1 ล้านคน ร้อยละ 99 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคปอดบวมตลอดปี ซึ่งตามข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังโรคปอดบวมตั้งแต่ 1 ม.ค.58-19 ต.ค.58 ทั่วประเทศ พบผู้ป่วยโรคปอดบวม 163,032 คน เสียชีวิต 398 ราย ขณะที่ในช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว โดยพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มหนาวเย็น บางพื้นที่มีฝนตกด้วย เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสได้ดี ส่งผลให้ประชาชนป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจมากขึ้น และโรคปอดบวมมักเป็นภาวะแทรกซ้อนตามมาหากไม่รีบรักษา

สำหรับผู้ป่วยโรคปอดบวม สูงที่สุด คือ ผู้สูงอายุ 55 ปีขึ้นไป พบร้อยละ 43 รองลงมาเด็กเล็กอายุ 1 ปีพบร้อยละ 11 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ เร่งรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน วิธีการป้องกันตัวไม่ให้ป่วย หากป่วยให้รีบรักษา เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตให้น้อยลง

ด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคปอดบวมเกิดได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ผู้ป่วยจะเริ่มต้นด้วยอาการไข้ ไอจาม มีน้ำมูก เจ็บคอ หากไม่รักษา จะเริ่มหายใจเหนื่อยหอบ หายใจเร็วและลำบาก อ่อนเพลีย ซึม อาจมีอาเจียนร่วมด้วย กลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยโรคนี้ ได้แก่ เด็กเล็ก น้ำหนักตัวน้อย ขาดสารอาหาร ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี โรคหัวใจ โรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ และหากป่วยจะมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น

วิธีการป้องกันโรค ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ขอให้ยึดหลัก กินอาหารสุกร้อน ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือ ก่อนรับประทานอาหารและภายหลังหยิบจับสิ่งของ หรือจับราวบันได ปุ่มลิฟต์ ลูกบิดประตู ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากเป็นไข้หวัด ให้นอนพักผ่อนให้มาก สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่สู่คนอื่น หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน มีไข้สูงขึ้น ไอเจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย ส่วนเด็กเล็ก หากซึมลง ไม่กินน้ำ ไม่กินนม ไข้สูง ไอ หายใจลำบาก หายใจหอบเร็ว หรือหายใจจนซี่โครงบุ๋ม ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อพิจารณายาฆ่าเชื้อ เนื่องจากปัจจุบันมียาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ