รมว.เกษตรฯ สั่งกรมชลประทานเร่งทำความเข้าใจหลังพบ 6 จ.เหนือเขื่อนใช้น้ำเกินแผน

ข่าวทั่วไป Monday November 9, 2015 13:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งปี 2558/59 ว่า กรมชลประทานได้รายงานถึงความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ 6 จังหวัดเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 6 ที่พบว่ามีการดึงน้ำไปใช้มากกว่าแผนอยู่ 1.2 ล้านลบ.ม. ได้แก่ จังหวัดตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และนครสวรรค์ จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาสถานการณ์ดังกล่าวโดยเร่งด่วน รวมถึงหาสาเหตุว่าน้ำที่มีการสูบไปใช้นำไปเพื่อประโยชน์อะไร เร่งด่วนหรือไม่อย่างไรด้วย เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่เป็นไปตามแผน

ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 19,932 ล้าน ลบ.ม. คิด เป็นร้อยละ 39 โดยปริมาณน้ำใช้การได้ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4,240 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีน้ำไหลลงเขื่อน 15.4 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่น้ำระบายออก 15.6 ล้าน ลบ.ม. ที่นำจะนำไปบริหารจัดการเพื่อการอุปโภค บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ไปจนถึงเดือนเมษายน 2559

สำหรับความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 8 มาตรการ ขณะนี้ พบว่าในมาตรการที่ 1 ซึ่งมี 2 หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการ คือ กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งได้ทำการสำรวจความต้องการของเกษตรกรในช่วงลดค่าใช้จ่ายด้วยการจัดหาพืชทดแทน การทำปศุสัตว์และทำปุ๋ย เรียบร้อยแล้วทั้ง 22 จังหวัดเจ้าพระยา เพื่อเริ่มดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ที่ดำเนินการจัดกิจกรรมธงฟ้าดำเนินการแล้วใน 7 จังหวัด 12 ครั้ง ในช่วงเดือน พ.ย.จะทำอีก 75 ครั้ง จากแผนทั้งหมด 400 ครั้ง การจำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน 27 ศูนย์ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 1 พ.ย. และการเชื่อมโยงตลาดและจัดการตลาดรองรับผลผลิตของเกษตรกรจะเริ่มดำเนินการ 1 ธ.ค.นี้

มาตรการที่ 2 การลดปัญหาหนี้สิน เช่น ธ.ก.ส. มีมาตรการออกมาแล้วเช่นกัน อาทิ ปลอดการชำระเงินต้นเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ โดย ส.ป.ก. ก็มีมาตรการลดหรือยกเว้นการเก็บค่าเช่าที่ดินในพื้นที่ ส.ป.ก.เช่นกัน มาตรการที่ 3 การจ้างงานและเพิ่มรายได้เกษตรกร ซึ่งมี 3 หน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้แก่กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการจ้างงานของกรมชลประทานแล้ว 525,641 คน งบประมาณ 157 ล้านบาท ขณะที่การจ้างงานโดยกระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการโอนเงินให้จังหวัด 46 จังหวัดแล้วจำนวน 51.2 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจ้างแรงงานแล้ว 105 ล้าน

มาตรการที่ 4 ดำเนินการรวบรวมข้อมูลความต้องการของชุมชนโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระยะ ซึ่งในระยะแรกที่จะส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยและอาศัยความชื้นที่ได้ลงพื้นที่สำรวจมาตั้งแต่ 3 พ.ย. คาดว่าเกษตรกรและชุมชนจะได้รับอนุมัติโครงการภายในวันที่ 13 ธ.ค. ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นการสำรวจกิจกรรมการเกษตรและนอกภาคเกษตรในพื้นที่ทั่วประเทศจะดำเนินการสำรวจให้แล้วเสร็จภายใน 3 ธ.ค.58 เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการเฉพาะกิจฯ พิจาณาก่อนเสนอเข้าครม.เห็นชอบ เพื่อโอนงบประมาณเบิกจ่ายได้แต่ตั้ง ก.พ. 59 เป็นต้นไป

มาตรการที่ 5 ความเข้าใจการใช้น้ำก็จะต้องดำเนินการเรื่องนี้ต่อเนื่องตลอดระยะเวลาปัญหาภัยแล้ง มาตรการที่ 6 การเพิ่มปริมาณต้นทุน ได้แก่ การปฏิบัติการฝนหลวง ในช่วงที่ผ่านมาดำเนินการแล้ว 688 เที่ยวบิน มีฝนตก 50 จังหวัด ส่วนบ่อบาดาลได้เร่งรัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เร่งดำเนินการสร้างบ่อบาดาล จำนวน 6500 ให้เสร็จก่อน ก.พ.59 ขณะที่การทำฝายเก็บน้ำ ถังเก็บน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ โดยกระทรวงกลาโหม จะต้องแล้วเสร็จ ก.พ.59

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับทุกหน่วยงานทำงานให้เกิดความรวดเร็ว เป็นไปตามแผนงาน โดยกำหนดนัดหมายการประชุมครั้งถัดไป 15 วันจากนี้ ขณะเดียวกัน ขอให้ทุกหน่วยงานส่งข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินงานในทุกมาตรการ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัดติดตามกำกับดูแล

ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมชลประทานได้ระบายน้ำตามแผนที่กำหนด โดยเขื่อนภูมิพลระบายวันละ 4.4 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ระบายวันละ 8.5 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยระบายวันละ 1.1 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ระบายวันละ 1.6 ล้าน ลบ.ม. เป็นไปตามแผน แต่ปรากฏว่าน้ำไหลผ่านสถานีบางไทร 76 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งถือว่าน้อย โดยจากการตรวจพบว่ามีพื้นที่ตอนบนเขื่อนเจ้าพระยาใช้น้ำเกินแผนไป 14 ล้านลูกบาศก์เมตร/วินาที หรือจำนวน 1.2 ล้านลบ.ม. ดังนั้น การบริหารจัดการหลังจากนี้จะทำหนังสือขอความร่วมมือจากท้องถิ่น เพื่อลดการรับน้ำ หรือรับน้ำเป็นรอบเวร เพื่อทำให้น้ำถึงเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 14 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนให้ได้ สำหรับจังหวัดเหนือเขื่อนที่มีการใช้น้ำมาก ได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และพิจิตร ส่วนจ.ตาก กำแพงเพชรและนครสรรค์มีไม่มาก

ขณะที่ข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าวยังพบว่ามีการปลูกข้าวค่อนข้างมากแต่ต่อเนื่อง โดยพื้นที่ปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องปลูกครั้งที่ 2 มีอยู่ประมาณ 1.76 ล้านไร่ มากสุดอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี อยุธยา และปทุมธานี ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวนาปีครั้งแรก 1.33 ล้านไร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ