"วันนี้ ยังไม่มีการพิจารณา เพียงแต่ให้ไปประเมินการทำงานแต่ละองค์กร โดยให้ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานหลักในการเรื่องนี้" นายสมศักดิ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า ในส่วนองค์กรมหาชน เป็นเรื่องของการให้ไปประเมิน โดยให้ทบทวนทั้งหมด ซึ่งหลักเกณฑ์การประเมินต้องดูว่าแต่ละองค์กรดำเนินการสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งจะใหื่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) ทำหน้าที่ในการประเมิน โดยจะประเมินทั้งตัวบุคลากร ผู้บังคับบัญชา ผลการทำงาน โดยย้ำว่าไม่มีเจตนาไปทำร้ายใคร และให้เวลาไปปรับแก้ในช่วง 3-6 เดือนจากนี้
องค์กรส่วนใหญ่ หรือกองทุนต่างๆ ทำตามวัตถุประสงค์ที่ก่อตั้งขึ้นมา เพียงแต่อยากให้กลับไปพิจารณาว่า ทำอย่างไรให้รัดกุม ให้มีประสทธิภาพต่อการใช้จ่ายงบประมาณ แต่ยอมรับว่าหากองค์กรใดไม่เกิดประโยชน์ก็จำเป็นต้องยุบทิ้ง
"เจ้าหน้าที่ บุคลากร เราก็ไม่อยากไปทำร้ายใคร อยากให้ไปปรับแก้ใน 3 เดือน ไปสร้างผลงานให้ปรากฎ ให้ตรงกับจุดมุ่งหมายของการก่อตั้งองค์กรขึ้นมา" นายกฯ ระบุ
ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า กรณีของ TCDC ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าคณะรัฐมนตรีจะพิจารณายุบองค์กรดังกล่าวนั้น วันนี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าข่าวลือทั้งหลาย ต้องชั่งใจที่จะพิจารณา อย่าเพิ่งตีโพยตีพาย วิพากษ์วิจารณ์ไปตั้งแต่ต้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีนโยบายมาก่อนหน้านี้แล้วว่า หน่วยงานราชการ, รัฐวิสาหกิจ, กองทุน และองค์การมหาชนทั้งหลายจะต้องมีการประเมินผลทั้งจากตัวเองและหน่วยงานภายนอก ซึ่งการประเมินผลนั้นจะพิจารณาจาก 1.การดำเนินงานของหน่วยงานนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งขึ้นหรือไม่ 2.มีการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าหรือไม่ 3.การดำเนินงานขององค์กรมีประโยชน์ต่อประชาชนในส่วนรวมหรือไม่ หรือมีประโยชน์เฉพาะแค่คนบางกลุ่ม บางด้าน ซึ่งหน่วยงานใดก็แล้วแต่ที่ประเมินแล้วผ่าน ก็สนับสนุนส่งเสริมให้ดำเนินการต่อไป และหาแนวทางสนับสนุนให้สามารถดำเนินงานได้ดียิ่งขึ้น หน่วยงานใดที่ทำแล้วประสิทธิภาพไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ การประเมินผลได้คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ก็ต้องมีการพัฒนาปรับปรุง แก้ไขข้อบกพร่อง
"ตรงไหนที่จำเป็นต้องควบรวม ยุบรวม ก็ต้องดำเนินการ อันไหนไม่ได้เรื่อง ไปต่อไม่ไหว ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ก็ต้องยุบ ดังนั้น คงเป็นความวิตกกังวลของแต่ละฝ่ายไปเอง นายกรัฐมนตรีบอกว่าการปฏิรูป หรือการพัฒนาปรับปรุงทุกเรื่องนั้น จะมีผู้ได้และเสียประโยชน์ ผู้เสียประโยชน์ก็จะมีอาการแบบนี้เป็นธรรมดา ถ้าคิดว่าเราได้ตอบโจทย์ของสังคมหรือไม่ ถ้าดีก็ส่งเสริม ถ้าไม่ดีก็ต้องแก้ไข ถ้าไม่ได้เรื่องเลยก็ต้องยุบ ซึ่งต้องมีเหตุผลชี้แจงให้สังคมรับฟังและเข้าใจได้" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว