โดยขณะนี้ได้เตรียมศึกษาไว้หลายสูตร และจะตัองมีการพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะเลือกใช้สูตรใด โดยจะเป็นการตัดสินใจของฝ่ายนโยบาย ซึ่งเบื้องต้นอาจจะมีการเสนอให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่ผู้ที่มีรายได้มากกว่าเดือนละ 20,000 บาท และหักค่าลดหย่อนบุตรได้มากกว่า 3 คน จากปัจจุบันที่ผู้มีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 20,000 บาทจะไม่ต้องเสียภาษี และมีการหักค่าลดหย่อนบุตรได้ไม่เกิน 3 คนเท่านั้น
ทั้งนี้คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงต้นปี 59 เพื่อที่กรมสรรพากรจะได้นำไปหารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
"เราคิดเสร็จแล้ว เตรียมไว้หลาย version มาก แต่ยังไม่เลือก ต้องเอาไปคุยกับ รมว.คลัง และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลก่อน เพราะต้องรอดูตัวแปรอื่นๆ ที่คาดไม่ถึงอีกว่าจะต้องเพิ่มอะไร คาดว่าต้นปี 59 น่าจะออกมา เพื่อที่จะเตรียมใช้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบใหม่ในปี 60" อธิบดีกรมสรรพากร กล่าว
พร้อมยอมรับว่า การคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบใหม่ไม่ว่าจะเลือกใช้สูตรใดนั้น จะทำให้รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลง แต่ทั้งนี้เชื่อว่าถ้าผู้มีเงินได้มีการยื่นชำระภาษีตามหน้าที่ของตัวเองอย่างถูกต้อง ประกอบกับการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพของกรมสรรพากร รวมทั้งแนวทางการผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีบัญชีเดียวก็จะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีทางอ้อมเพิ่มขึ้น 80,000 ล้านบาท ถึง 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะเข้ามาชดเชยรายได้ส่วนที่เสียไปด้วย
"ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนที่เราศึกษาไว้ ภาษีเงินได้จะเก็บได้ลดลง แต่เราเชื่อว่าถ้าทุกคนยื่นภาษีตามหน้าที่ของตัวเอง ยื่นครบ ยื่นถูกต้อง เราก็น่าจะรักษาฐานอยู่ได้ และก็ต้องขึ้นกับประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรด้วย" นายประสงค์ ระบุ
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงความคืบหน้าในการออกกฎหมายลูก ของ พ.ร.บ.ภาษีมรดกว่า จะเสนอกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อที่ประชุม ครม. ในเดือนธ.ค.58 นี้ และคาดว่าจะมีผลพร้อมบังคับใช้ได้ตั้งแต่เดือน ก.พ.59 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่าภาพรวมการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2559 จะได้ตามเป้าหมายที่ 1.895 ล้านล้านบาท จากการเข้มงวดและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี
นอกจากนี้ กรมอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม 10 กลุ่มที่ ครม. ได้มีมติให้การสนับสนุนไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเป็นมาตรการด้านภาษี แต่จะเป็นคนละส่วนกับที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ได้เคยดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น