ทางมูลนิธิและเครือข่ายฯจึงฟ้องปกครองหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในฐานะหน่วยงานรัฐผู้ออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และเป็นการยกเลิกมาตรการหรือกลไกที่สำคัญในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน ปิดกั้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมแสดงความคิดเห็นและติดตามตรวจสอบโครงการโรงไฟฟ้าขยะทั้งของรัฐและเอกชน
ดังนั้น จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2558 และขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่2/2558 เรื่องการกำหนดประมวลหลักการปฏิบัติสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง (COP)
น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวว่า การทำ EIA มีหลักการที่รัดกุม มีการติดตามผลการเปลี่ยนแปลงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะที่การทำ COP นั้น ไม่ได้กำหนดในหลักเกณฑ์นี้ ไม่มีมาตรการการลดผลกระทบที่เกิดกับประชาชน ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าก็ไม่ต้องส่งรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการทำ COP ก็ไม่ผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการตรวจสอบ ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะมีมลพิษสูงมาก การใช้ COP มาควบคุมจึงไม่เพียงพอ จะเห็นได้จากในต่างประเทศที่แม้จะมีโรงไฟฟ้าจากขยะ แต่จะพยายามลดปริมาณ และใช้วิธีการฝังกลบหรือวิธีอื่นแทน การที่รัฐบาลยกเลิก EIA ถือเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน และไม่คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ทางกุล่มกำลังพิจารณาว่าจะมีการยื่นฟ้องโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะในพื้นที่อื่นๆหรือไม่
“รัฐบาลที่มาในช่วงพิเศษ ควรจะจำกัดเรื่องการออกกฎหมายและนโยบายสำคัญที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้รัฐบาลชุดปัจจุบันควรเร่งร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง และให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนได้เป็นผู้พิจารณาในเรื่องการออกกฎหมาย และนโยบายสำคัญเช่นนี้"