นายวิฑูรย์ ได้อ่านแถลงการณ์เรื่องขอให้ชะลอและแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ มีใจความว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ.... เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 นั้น องค์กรและเครือข่ายด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรและอาหารเครือข่ายผู้บริโภค กลุ่มองค์กรประชาชนในจังหวัดต่างๆ และองค์กรภาคประชาสังคม เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค อย่างร้ายแรง เนื่องจากมิได้นำเอาหลักการป้องกันไว้ก่อน และหลักการผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพซึ่งเป็นหลักการสากลมาบัญญัติไว้
จากการวิเคราะห์โดยนักวิชาการด้านกฎหมายจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และองค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามปัญหาเรื่องสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม(จีเอ็มโอ)มามากกว่า 20 ปีเห็นว่าร่างกฎหมายนี้ขาดความชอบธรรม ขาดหลักการสำคัญ และมีข้อบกพร่องอย่างสำคัญดังต่อไปนี้
1.กระบวนการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ดำเนินการโดยกลุ่มสนับสนุนจีเอ็มโอ ซึ่งประกอบไปด้วย หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่วิจัยเรื่องจีเอ็มโอและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบรรษัทข้ามชาติที่ได้ประโยชน์จากจีเอ็มโอ โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ กฎหมายนี้ถูกตีกลับจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ อีกทั้งประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบไม่มีโอกาสได้เห็นเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นี้ เพราะเพิ่งมาเผยแพร่หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว
2.การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพอันเนื่องมาจากจีเอ็มโอนั้น มีพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ(ซึ่งประเทศไทยและประเทศต่างๆ รวม 196 ประเทศได้ให้สัตยาบัน) แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้กลับมิได้นำเอาหลักการป้องกันเอาไว้ก่อน และการคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมของพิธีสารมาใช้แต่ประการใด ในทางตรงกันข้ามกลับไปรับเอาแนวทางของสหรัฐอเมริกาในองค์การค้าโลกที่ให้ใช้การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดก่อนเท่านั้นมาใช้เกี่ยวกับจีเอ็มโอ ไม่สอดคล้องกับหลักการสากล เพราะแนวทางตามกฎหมายนี้อาจต้องใช้เวลานานหลายปีจึงจะสามารถพิสูจน์ได้ซึ่งไม่ทันการณ์ต่อการคุ้มครองสุขภาพและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและเศรษฐกิจสังคม
3.เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความบกพร่องในสาระสำคัญหลายประการ เช่น
3.1 เปิดให้มีการทดลองและปลูกพืชจีเอ็มโอได้อย่างเสรียกเว้นที่ประกาศห้ามเท่านั้น
3.2 เปิดช่องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับจีเอ็มโอไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายในกรณีอยู่ระหว่างการทดลองโดยอ้าง “เหตุสุดวิสัย"
3.3 ไม่ระบุความรับผิดชอบในกรณีที่จีเอ็มโอซึ่งปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมแล้วทำให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรอินทรีย์ เกษตรทั่วไป ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
3.4 ไม่กำหนดให้จีเอ็มโอที่ทำการทดลองในสภาพควบคุมและจีเอ็มโอในภาคสนามต้องทำการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ถอยหลังมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 ธันวาคม 2550
3.5 ให้อำนาจ “หน่วยงานผู้รับผิดชอบ" ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกรม หรือสถาบัน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่วิจัย/ส่งเสริมเทคโนโลยีจีเอ็มโอเป็นผู้ตัดสินใจ “ปลดปล่อยจีเอ็มโอสู่สิ่งแวดล้อม" ซึ่งเป็นการอนุญาตให้มีการปลูกเชิงพาณิชย์ ทั้งๆที่การดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงทางเศรษฐกิจสังคม และด้านอื่นๆ ขาดการถ่วงดุล บทบาททับซ้อนและอาจนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อนในกรณีที่หน่วยงานดังกล่าวร่วมดำเนินการวิจัยกับธุรกิจเอกชน
3.6 คณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ และคณะกรรมการชำนาญการ ภายใต้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มิได้กำหนดให้ภาคประชาชนและผู้ประกอบการมีส่วนร่วมอย่างที่ควรจะเป็น และไม่สอดคล้องกับหลักการระหว่างประเทศ
4.หน่วยงานสำคัญของประเทศ 2 หน่วยงานได้ท้วงติงต่อร่าง พ.ร.บ.นี้ว่าอาจทำให้เกิดผลกระทบดังนี้
4.1 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นว่า อาจส่งผลกระทบโดยตรงกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เป็นการจำกัดตลาดของไทยให้แคบลง และยังต้องแข่งกับผู้ผลิตที่มีเทคโนโลยีสูง เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศและเกษตรกรในทุกมิติ
4.2 กระทรวงพาณิชย์เห็นว่า ที่ผ่านมามีการอนุญาตให้นำเข้ามาทดลองเป็นรายกรณี แต่ก็ยังมีการปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศ ซึ่งจะกระทบต่ออาหาร พืชผลทางการเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพและจะสร้างความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ นอกจากนี้ยังกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยและภาพลักษณ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันไทยมีนโยบายยกระดับสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เครือข่ายของประชาชนและผู้ประกอบการและองค์กรต่างๆที่ร่วมลงนาม จึงขอเสนอให้พิจารณาชะลอการส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้มีความสมบูรณ์ และสามารถปกป้องสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ สุขภาพ และผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังต่อไปนี้
1.ขอให้ชะลอการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเอาไว้ก่อน โดยให้แต่งตั้งตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากจีเอ็มโอ ตัวแทนจากเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรสาธารณประโยชน์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและเกษตรอินทรีย์ และนักวิชาการด้านกฎหมายที่ได้ติดตามประเด็นความปลอดภัยทางชีวภาพ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมายอย่างน้อยกึ่งหนึ่งในคณะกรรมการปรับปรุงร่างฯ
2.นำหลักการป้องกันไว้ก่อน การคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และพิธีสารเสริมนาโงยา-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดเชยความเสียหาย มาเป็นหลักการสำคัญในการปรับปรุงร่างกฎหมาย และให้นำความเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งปรับปรุงเนื้อหาที่บกพร่อง (หัวข้อ 3 ด้านบน) ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
เครือข่ายของประชาชนและผู้ประกอบการและองค์กรต่างๆ ที่ร่วมลงนาม เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีนั้นไม่สามารถควบคุมผลกระทบของจีเอ็มโอที่มีต่ออธิปไตยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ อีกทั้งขัดต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งสู่ความมั่นคง และยั่งยืนโดยประการทั้งปวง