ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,102 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,506 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 550,167 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 89,473 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 25,622 ราย ไม่มีใบขับขี่ 25,541 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (17 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (5 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (17 คน)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (29 ธ.ค.58 – 4 ม.ค.59) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,379 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 380 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,505 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 24.03 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 17.28 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.51 รถปิคอัพ 7.43 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 63.89 ถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 36.02 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.42 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 28.09 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 52.23 จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 4 จังหวัด ได้แก่ ตรัง แพร่ ระนอง และสุโขทัย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (139 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (15 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (140 คน)
นายกฤษฎา เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 มีจำนวนอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการเมาแล้วขับและขับรถเร็ว โดยผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง ร้อยละ 68.82 และส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่กว่าร้อยละ 57
อย่างไรก็ตาม แม้จะสิ้นสุดการดำเนินงานตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 แล้ว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะมุ่งสร้างความปลอดภัยทางถนนตามวาระแห่งชาติของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ภายใต้ 5 เสาหลักตามแนวทางทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ครอบคลุมทั้งการวางกลไกการบริหารจัดการที่เป็นระบบ การยกระดับการสัญจร ยานพาหนะที่ปลอดภัย การสร้างจิตสำนึกและวินัยจราจรในกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนน และการจัดการหลังเกิดอุบัติเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินงานในรูปแบบ “ประชารัฐ" เน้นการใช้มาตรการทางสังคมและชุมชน เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการสร้างความปลอดภัยทางถนนระดับพื้นที่อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ในระยะยาว จะได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนระยะ 20 ปี พร้อมจัดทำแผนการดำเนินงานเป็น 4 ระยะ โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการยกระดับยานพาหนะให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานวิศวกรรมยานยนต์
ทั้งนี้ ศปถ. ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความปลอดภัยในการเดินทางแก่ประชาชน เพื่อให้เทศกาลปีใหม่ 2559 เป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “ประเทศไทยปลอดภัย (Safety Thailand)"และยกระดับการสัญจรของประเทศไทยให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะได้ประสานจังหวัดตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก พร้อมถอดบทเรียนการทำงานของทุกภาคส่วน ซึ่งจะได้นำปัจจัยแห่งความสำเร็จในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนมาเป็นต้นแบบให้แต่ละพื้นที่นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบททางสังคม เพื่อเสริมสร้างกลไกการลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ให้เป็นระบบและเข้มแข็ง รวมถึงนำปัญหาอุปสรรคที่เป็นจุดอ่อนในการทำงานมาปรับปรุงและวางแนวทางการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด ศปถ. โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะมุ่งสร้างถนนทุกสายของประเทศไทยเป็นเส้นทางแห่งความปลอดภัย เพื่อให้ทุกการเดินทางใน 365 วัน บนถนนของเมืองไทย เป็นการเดินทางที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและความปลอดภัย