นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. เปิดเผยว่า ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนของทุกปีหลายพื้นที่ประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้ง การเผาพื้นที่การเกษตรเพื่อเตรียมเพาะปลูก ประกอบกับสภาพภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ ก่อให้เกิดสภาวะกักควัน รวมถึงหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ สุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อมและบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทาง รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จึงได้สั่งการให้ ปภ.บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้กลไกประชารัฐขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เน้นหนักดำเนินการในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือที่มักเกิดวกฤติหมอกควัน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และตาก โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบหลักประสานการดำเนินงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมิติเชิงพื้นที่(Area Approach) มุ่งเน้นการดำเนิน 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่ มาตรการเชิงป้องกันและควบคุม มาตรการสร้างการมีส่วนร่วม และมาตรการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมทั้งแบ่งมอบพื้นที่ ภารกิจ และหน่วยงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน
โดยพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยจัดทำแนวป้องกันไฟและจัดกำลังเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนในพื้นที่ป่า เพิ่มความถี่ในการตรวจลาดตระเวนเพื่อลดการบุกรุกและการเผาในพื้นที่ป่า รวมถึงรณรงค์ให้ผู้นำท้องที่กำหนดกติกาและมาตรการห้ามเผาป่าในพื้นที่ชุมชนและหมู่บ้าน ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด
ส่วนพื้นที่เกษตรกรรม กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยรับผิดชอบหลักประสานความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการควบคุมการเผาวัสดุเกษตรกรรมในพื้นที่ โดยรณรงค์การไถกลบตอซังข้าว/ข้าวโพดและใช้สารย่อยสลาย พร้อมทั้งใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในการเฝ้าระวังและป้องกันการเผาในพื้นที่เสี่ยง และประกาศเขตห้ามเผา 90 วัน
สำหรับพื้นที่ริมทางหลวง กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามเผาในพื้นที่เขตทางหลวง จัดกำลังอาสาสมัครภาคประชาชนร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคมลาดตระเวนเฝ้าระวังการเผาในเขตริมทางหลวง
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ปภ.ได้บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างเป็นระบบ โดยให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันเชิงรุก มุ่งเน้นการบูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมการเผา โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน เขตเกษตรกรรม และพื้นที่ป่าไม้ ควบคู่กับการจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและจัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ดับเพลิงให้พร้อมปฏิบัติการเฝ้าระวังและดับไฟป่า เพื่อให้การป้องกัน เฝ้าระวังและระงับไฟป่าและหมอกควันตามนโยบายของรัฐบาลมีประสิทธิภาพสูงสุด