ด้านมาตรการลดค่าครองชีพโดยจำหน่ายสินค้าราคาเหมาะสม กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการจัดงานธงฟ้าช่วยเหลือภัยแล้งไปแล้ว 164 ครั้ง ใน 21 จังหวัด ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้ได้ตามเป้าหมาย 400 ครั้งต่อไป
มาตรการที่ 2 การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสถาบันการเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินการอนุมัติสินเชื่อเกษตรกรแล้ว 61,359 ราย วงเงิน 1,200 ล้านบาท ส่วนธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อให้แก่เกษตรกรแล้ว 7,210 ราย วงเงิน 6,396 ล้านบาท
มาตรการที่ 3 การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือไปแล้วกว่า 3.2 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 46 จังหวัด เบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 18 ล้านบาท
มาตรการที่ 4 การเสนอโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ซึ่งใช้เวลาในการพิจารณาค่อนข้างนานเนื่องจากมีรายละเอียดของโครงการค่อนข้างมาก โดยแยกเป็น 2 ระยะ คือ 1) การปลูกพืชใช้น้ำน้อย ขณะนี้ได้อนุมัติโครงการและดำเนินการไปแล้ว 155 โครงการ วงเงิน 151 ล้านบาท 2) โครงการด้านการเกษตรอื่นและนอกภาคการเกษตร มีการเสนอโครงการเข้ามา 7,419 โครงการ ได้รับการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ ในชั้นแรกอนุมัติเพียง 1,853 โครงการ วงเงิน 1,213 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5,566 โครงการนั้น ไม่ผ่านการพิจารณาเนื่องจากผิดเงื่อนไข เอกสารไม่ครบ ไม่แสดงความเชื่อมโยงผลผลิตกับการตลาด ไม่มีรูปแบบการบริหารจัดการผลผลิตและรายได้ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้อนุมัติหลักการว่า เนื่องจากเป็นปัญหาเล็กน้อยจึงขอส่งเอกสารกลับไปปรับแก้หรือเพิ่มเติมเอกสารให้ครบถ้วน จะขยายเวลาจนถึงสิ้นเดือน ม.ค.นี้ และเมื่อโครงการผ่านการพิจารณาแล้ว จะเสนอเข้าครม. ตามโครงการที่ผ่านการพิจารณาก่อนหน้านี้ต่อไป
ด้านการให้ความช่วยเหลือตามประกาศภัยพิบัตินั้น ที่ยังไม่มีการประกาศดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับวิธีการบริหารจัดการโดยให้ใช้เงินทดรองราชการเข้าไปดูแลในเชิงยับยั้งป้องกันการเกิดภัยพิบัติ และดูแลด้านมาตรการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ และหากพื้นที่ใดมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาจะเข้าไปบริหารจัดการทันที
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศภัยพิบัติภัยแล้งในพื้นที่ใดๆ เลย ด้วยสาเหตุที่ว่ารัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแต่ไม่ได้หมายความวาจะไม่มี ถ้าหากสถานการณ์รุนแรงก็จะมีการประกาศ
ทั้งนี้ คาดช่วงต้นก.พ.-มี.ค.59 สถานการณ์ภัยแล้งน่าจะเต็มที่ และคาดว่าจะยาวไปถึงเดือนพ.ค.-มิ.ย.59 แต่ก็ยืนยันว่าสถานการณ์น้ำสำหรับใช้เพื่อรักษาระบบนิเวศน์-อุปโภคบริโภคยังเพียงพอตลอดฤดูแล้งรวมทั้งพอสำหรับใช้ปลูกพืชน้ำน้อย
"เรื่องน้ำอุปโภคบริโภค ผมได้กำชับอธิบดีกรมชลประทานไว้แล้วว่า ต้องมีแผนที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนใหญ่ ซึ่งกำหนดเกณฑ์ไว้ว่าสถานการณ์แบบนี้จะปล่อยน้ำเท่าไหร่ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงต้องมาวิเคราะห์สถานการณ์และต้องได้รับอนุมัติจึงจะเปลี่ยนแปลงได้ และต้องมารายงานผมทุกวันด้วย" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวเสริมว่า รัฐบาลได้มีการปรับวิธีการจัดการ ซึ่งปีที่แล้วเวลานี้จะมีหมู่บ้านที่ต้องประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือหลายพันหมู่บ้าน แต่ปีนี้รัฐบาลได้ใช้มาตรการยับยั้งเชิงป้องกัน โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคไม่มีส่วนใดที่มีปัญหา ส่วนสถานการณ์น้ำเพื่อการเกษตรอีก 1-2 เดือนอาจจะมีความแห้งแล้งก็จะมีวิธีบริหารจัดการร่วม