(เพิ่มเติม) ก.เกษตรฯ ใช้มาตรการยับยั้งเชิงป้องกันภัยแล้ง-กำชับกรมชลฯปรับแผนบริหารจัดการน้ำ

ข่าวทั่วไป Wednesday January 13, 2016 10:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2558/59 ว่า การประชุมเน้นการติดตามความก้าวหน้าเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งใน 22 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้ง 8 มาตรการ ซึ่งมีความคืบหน้า ดังนี้ มาตรการที่ 1 การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน มีเป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกร 385,958 ราย โดยขณะนี้ได้โอนเงินงบประมาณสู่จังหวัดเรียบร้อยแล้ว ส่วนบางจังหวัดที่ยังติดขัดในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนก.พ.

ด้านมาตรการลดค่าครองชีพโดยจำหน่ายสินค้าราคาเหมาะสม กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการจัดงานธงฟ้าช่วยเหลือภัยแล้งไปแล้ว 164 ครั้ง ใน 21 จังหวัด ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้ได้ตามเป้าหมาย 400 ครั้งต่อไป

มาตรการที่ 2 การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสถาบันการเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินการอนุมัติสินเชื่อเกษตรกรแล้ว 61,359 ราย วงเงิน 1,200 ล้านบาท ส่วนธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อให้แก่เกษตรกรแล้ว 7,210 ราย วงเงิน 6,396 ล้านบาท

มาตรการที่ 3 การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือไปแล้วกว่า 3.2 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 46 จังหวัด เบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 18 ล้านบาท

มาตรการที่ 4 การเสนอโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ซึ่งใช้เวลาในการพิจารณาค่อนข้างนานเนื่องจากมีรายละเอียดของโครงการค่อนข้างมาก โดยแยกเป็น 2 ระยะ คือ 1) การปลูกพืชใช้น้ำน้อย ขณะนี้ได้อนุมัติโครงการและดำเนินการไปแล้ว 155 โครงการ วงเงิน 151 ล้านบาท 2) โครงการด้านการเกษตรอื่นและนอกภาคการเกษตร มีการเสนอโครงการเข้ามา 7,419 โครงการ ได้รับการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ ในชั้นแรกอนุมัติเพียง 1,853 โครงการ วงเงิน 1,213 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5,566 โครงการนั้น ไม่ผ่านการพิจารณาเนื่องจากผิดเงื่อนไข เอกสารไม่ครบ ไม่แสดงความเชื่อมโยงผลผลิตกับการตลาด ไม่มีรูปแบบการบริหารจัดการผลผลิตและรายได้ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้อนุมัติหลักการว่า เนื่องจากเป็นปัญหาเล็กน้อยจึงขอส่งเอกสารกลับไปปรับแก้หรือเพิ่มเติมเอกสารให้ครบถ้วน จะขยายเวลาจนถึงสิ้นเดือน ม.ค.นี้ และเมื่อโครงการผ่านการพิจารณาแล้ว จะเสนอเข้าครม. ตามโครงการที่ผ่านการพิจารณาก่อนหน้านี้ต่อไป

ด้านการให้ความช่วยเหลือตามประกาศภัยพิบัตินั้น ที่ยังไม่มีการประกาศดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับวิธีการบริหารจัดการโดยให้ใช้เงินทดรองราชการเข้าไปดูแลในเชิงยับยั้งป้องกันการเกิดภัยพิบัติ และดูแลด้านมาตรการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ และหากพื้นที่ใดมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาจะเข้าไปบริหารจัดการทันที

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศภัยพิบัติภัยแล้งในพื้นที่ใดๆ เลย ด้วยสาเหตุที่ว่ารัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแต่ไม่ได้หมายความวาจะไม่มี ถ้าหากสถานการณ์รุนแรงก็จะมีการประกาศ

ทั้งนี้ คาดช่วงต้นก.พ.-มี.ค.59 สถานการณ์ภัยแล้งน่าจะเต็มที่ และคาดว่าจะยาวไปถึงเดือนพ.ค.-มิ.ย.59 แต่ก็ยืนยันว่าสถานการณ์น้ำสำหรับใช้เพื่อรักษาระบบนิเวศน์-อุปโภคบริโภคยังเพียงพอตลอดฤดูแล้งรวมทั้งพอสำหรับใช้ปลูกพืชน้ำน้อย

"เรื่องน้ำอุปโภคบริโภค ผมได้กำชับอธิบดีกรมชลประทานไว้แล้วว่า ต้องมีแผนที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนใหญ่ ซึ่งกำหนดเกณฑ์ไว้ว่าสถานการณ์แบบนี้จะปล่อยน้ำเท่าไหร่ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงต้องมาวิเคราะห์สถานการณ์และต้องได้รับอนุมัติจึงจะเปลี่ยนแปลงได้ และต้องมารายงานผมทุกวันด้วย" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวเสริมว่า รัฐบาลได้มีการปรับวิธีการจัดการ ซึ่งปีที่แล้วเวลานี้จะมีหมู่บ้านที่ต้องประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือหลายพันหมู่บ้าน แต่ปีนี้รัฐบาลได้ใช้มาตรการยับยั้งเชิงป้องกัน โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคไม่มีส่วนใดที่มีปัญหา ส่วนสถานการณ์น้ำเพื่อการเกษตรอีก 1-2 เดือนอาจจะมีความแห้งแล้งก็จะมีวิธีบริหารจัดการร่วม ขณะที่นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งเพียงพอใช้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศในแต่ละลุ่มน้ำเท่านั้น จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอต่อการดำรงชีพของประชากรด้านท้ายเขื่อนอย่างไม่ขาดแคลน ตลอดในช่วงฤดูแล้งไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ล่าสุด (12 ม.ค. 59) มีปริมาณน้ำรวมกันเพียง 39,123 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 15,620 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือ ปริมาณน้ำในเขื่อนส่วนใหญ่ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย อาทิ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 69 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของความจุอ่างฯ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 4,868 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,666 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 374 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำในเขื่อนหลายแห่งอยู่ในเกณฑ์น้อยเช่นกัน อาทิ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุอ่างฯ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำ 716 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุอ่างฯ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 874 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 120 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของความจุอ่างฯ ฯ เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำ 66 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ

ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 485 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำ 71 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ 12,793 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 72 ของความจุอ่างฯ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ 5,074 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ