การดำเนินการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ดำเนินการ 8 เขต ได้แก่ เขตดอนเมือง สายไหม หลักสี่ บางเขน จตุจักร ลาดพร้าว ห้วยขวาง และวังทองหลาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงแก้ปัญหาคุณภาพน้ำในคูคลอง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนสองฝั่งคลองลาดพร้าว-คลองสองให้ดีขึ้น โดยจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 1,260 วัน โดยมี นายพีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรมธนารักษ์ กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานเขต ร่วมเป็นสักขีพยาน
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การเริ่มต้นก่อสร้างโครงการก่อสร้างเขื่อนค.ส.ล.คลองลาดพร้าว-คลองสอง ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เกิดจากความร่วมมือจากส่วนราชการ กระทรวง กรม ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี เนื่องจากการก่อสร้างโครงการฯ ความยาว 22.65 กิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยบริเวณสองฝั่งคลองจำนวน 43 ชุมชนในพื้นที่ 8 เขต รวมกว่า 7,000 หลังคาเรือน โดยในจำนวนนี้มีประมาณ 6 ชุมชนที่จะต้องย้ายออกไปยังที่ตั้งใหม่ ซึ่งได้มีการเจรจาเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องมากว่า 8 เดือนแล้ว
ภายหลังจากโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองลาดพร้าว-คลองสองแล้วเสร็จ ซึ่งจะมีการขยายความกว้างคลอง 25-38 เมตร จะสามารถรองรับน้ำและผันน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้นกว่า 1 เท่าตัว ขณะเดียวกันตามแผนงานบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพมหานครระยะเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาลยังมีคลองสำคัญที่ต้องดำเนินการอีก 8 คลอง ได้แก่ คลองบางซื่อ คลองบางเขน คลองเปรมประชากร คลองพระยาราชมนตรี คลองสามวา คลองลาดบัวขาว คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองพระโขนง ซึ่งจะได้เตรียมการต่อไป
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้มีการกำหนดแนวเขตก่อสร้างในพื้นที่โครงการแล้วตั้งแต่ระยะ 25-38 เมตรตามสภาพของคลองตามธรรมชาติเดิมก่อนถูกรุกล้ำ และคำนึงถึงประสิทธิภาพในการระบายน้ำเป็นสำคัญ พร้อมทั้งได้เตรียมแผนงาน 3 ด้านในการดำเนินการควบคู่กันไป ได้แก่ แผนการก่อสร้าง แผนการจัดหาที่อยู่อาศัย และแผนการประชาสัมพันธ์ โดยในส่วนของแผนการก่อสร้างนั้น ภายหลังจากกรุงเทพมหานครลงนามในสัญญาจ้างกับบริษัทผู้รับจ้างแล้ว ผู้รับจ้างจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในทันทีในจุดที่ไม่มีบ้านรุกล้ำเป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของโครงการ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จากนั้นจะดำเนินการต่อเนื่องในชุมชนที่พร้อมเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่โครงการฯ ต่อไป
อนึ่ง เมื่อโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองลาดพร้าว-คลองสอง แล้วเสร็จตามแผนงานในปี 2561 จะสามารถเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำฝนและการระบายน้ำได้มากขึ้นกว่าร้อยละ 80 หรืออีกกว่าเท่าตัว อีกทั้งทำให้ง่ายต่อการขุดลอกทำความสะอาดคลองเพื่อเปิดทางน้ำไหล ป้องกันการทรุดตัวของตลิ่งสองฝั่งคลอง และแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในคลองรวมถึงทัศนียภาพและสิ่งแวดล้อมสองฝั่งคลองให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเป็นเส้นทางเดินสัญจรและทางจักรยาน เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง เชื่อมสู่ระบบขนส่งมวลชน ล้อ ราง เรือ ในปัจจุบันและอนาคตได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งต่อยอดเพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำและเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำคลองสาธารณะและการจัดระเบียบชุมชนแออัดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป