ซึ่งนายกรัฐมนตรีฝากข้อห่วงใยและมอบแนวทางในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระยะยาว โดยกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานในระยะ 20 ปี แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 พ.ศ.2558 - 2561 ระยะที่ 2 พ.ศ.2562 - 2566 ระยะที่ 3 พ.ศ.2567 - 2571 และระยะที่ 4 พ.ศ.2572 - 2576 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการยกระดับความปลอดภัยทางถนนสู่มาตรฐานสากล ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้กำหนดกรอบแนวทางการขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจังและต่อเนื่องตามมาตรการสำคัญ ดังนี้
การเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย โดยแก้ไขกฎหมายจราจรให้ทันสมัย บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำ พร้อมนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน โดยใช้กลไก "ประชารัฐ" เป็นแนวทางสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่
สนับสนุนให้ท้องถิ่นจัดตั้งด่านชุมชน และร่วมกันกำหนดกฎกติกาของชุมชนในการป้องปรามผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ พร้อมเร่งรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน โดยใช้สื่อท้องถิ่น พร้อมผลักดันให้บรรจุเรื่อง "วินัยจราจร" ในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับชั้น รวมถึงส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานกำหนดมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายผลักดัน "ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สร้างวินัยจราจร" เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดจิตสำนึกและวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน
การเฝ้าระวังความปลอดภัยและลดปัจจัยเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนน สำรวจและแก้ไขโครงสร้างวิศวกรรมจราจรเพื่อแก้ปัญหาจุดเสี่ยงอันตรายบนท้องถนน ประเมิน ตรวจสอบผู้ขับขี่ และปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตขับขี่ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
รวมถึงนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในยานพาหนะเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน การพัฒนากลไกการติดตามและประเมินผล ใช้กลไกของคณะอนุกรรมการด้านการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจร รวมถึงพัฒนาระบบฐานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นเอกภาพและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ศปถ.โดยความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วนมุ่งขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องตามข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรี โดยยึดการดำเนินงานตามกรอบแนวทางทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ภายใต้ 5 เสาหลัก ให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนน ครอบคลุมทั้งคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างการสัญจรที่ปลอดภัย เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุดและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน