กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง เพื่อการติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ร่วมประชุมให้ข้อมูลปริมาณน้ำ สภาพอากาศ วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งเป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งจะได้บูรณาการข้อมูลสถานการณ์น้ำ ความต้องการใช้น้ำของประชาชน แผนปฏิบัติการ และแผนการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแยกตามประเภทการใช้น้ำอย่างชัดเจน ครอบคลุมทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ ซึ่งจะได้นำข้อมูลมาวางแผนจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดช่วงฤดูแล้ง
กรณีลดปริมาณการปล่อยน้ำต้องไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงประสานผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำและความจำเป็นในการงดส่งน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อป้องกันไม่ให้พืชผลการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ รวมถึงรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทน ควบคู่กับการเร่งกำจัดผักตบชวา เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บน้ำ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้
นายพรพจน์ กล่าวต่อว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการให้จังหวัดวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหารองรับการขาดแคลนน้ำต้นทุนสำหรับการผลิตน้ำประปา โดยให้เร่งสำรวจข้อมูลปริมาณน้ำของแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ อาทิ แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อน ภาชนะกักเก็บน้ำสาธารณะ ความต้องการใช้น้ำของประชาชน รวมถึงปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาและภาคอุตสาหกรรม เพื่อวางแผนรับมือ กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหากรณีประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้