“รัฐบาลกำหนดให้แต่ละจังหวัดใช้กลไกประชารัฐในการแก้ไขปัญหา โดยให้ ผวจ. และนายอำเภอ ทำหน้าที่บูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร อปท. ตำรวจตระเวนชายแดน ภาคเอกชน และประชาชน แบ่งหน้าที่และพื้นที่รับผิดชอบ เฝ้าระวัง ระดมกำลังคน จัดหาอุปกรณ์ ระงับการเผาป่าหรือวัสดุการเกษตร จัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบ และประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกร่วมกันในการป้องกันปัญหา"
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า จะมีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบที่ชัดเจนคือ 1. พื้นที่เกษตรกรรม มี มท. เป็นหลัก ร่วมกับ กษ. และอื่นๆ รณรงค์ให้มีการไถกลบตอซังและใช้สารย่อยสลายแทนการเผา ใช้กลไกควบคุมกันเองในชุมชน เช่น ประกาศเขตห้ามเผา 90 วัน เป็นต้น 2. พื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ มี ทส. เป็นหลัก ร่วมกับ มท. ตชด.ทหาร อปท. และประชาชน จัดทำแนวป้องกันไฟป่า ลาดตระเวน และบังคับใช้ กม.กับผู้กระทำผิดโดยเคร่งครัด 3. พื้นที่ริมทางหลวง มี คค. เป็นหลัก ร่วมกับ มท.ควบคุมไม่ให้มีการเผาในพื้นที่เขตทางหลวง จัดชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังการเผา
“ท่านนายกฯ กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัดและมีเอกภาพ เน้นการทำงานเชิงรุก เพราะปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและการใช้ชีวิตของประชาชน รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว และหากเกิดไฟป่าและหมอกควันอาจจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อบรรเทาปัญหา ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง
ดังนั้น จึงขอความร่วมมือไปยังประชาชนในภาคเหนือร่วมกับเจ้าหน้าที่ป้องกันปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างจริงจัง และวิงวอนพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าวนาปรัง เพื่อจำกัดการใช้น้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค โดยรวมในช่วงหน้าแล้งนี้