สำหรับการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ภัยแล้ง เฝ้าระวังปัญหาการขาดแคลนน้ำของโรงพยาบาลในสังกัด วางแผนสำรองน้ำให้เพียงพอ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นที่จัดหาและสนับสนุนน้ำประปา แจ้งปริมาณการใช้แต่ละวันให้ทราบ เพื่อให้สำรองน้ำสำหรับโรงพยาบาล พร้อมกำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งเข้มงวดมาตรการประหยัดน้ำ
สำหรับในระยะยาว ให้ทุกจังหวัดที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก สำรวจแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียง วางแผนขุดเจาะ น้ำบาดาล นำมาปรับปรุงให้คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยต่อการนำมาใช้เพื่อบริการผู้ป่วย ทั้งในห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องทันตกรรม ห้องคลอด รวมทั้งการซักล้าง วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้กับผู้ป่วย
ด้านปริมาณการใช้น้ำของโรงพยาบาล ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงพยาบาล จำนวนผู้มารับบริการ เช่น ที่สำนักงานสาธาณรสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหา โดยจัดหาแหล่งน้ำสำรองจากสถาบันการพละศึกษา วิทยาเขตเชียงใหม่ จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด ภาคเอกชน รวมทั้งประสานประปาส่วนภูมิภาค ขยายระบบประปาให้ครอบคลุมถึงโรงพยาบาลที่ประสบภัยแล้งเรียบร้อยแล้ว
ส่วนที่โรงพยาบาลอำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบภัยแล้ง ปริมาณการใช้น้ำของโรงพยาบาลอยู่ที่ 20,000 — 30,000 ลิตรต่อวัน เบื้องต้นได้ขุดบ่อบาดาลแห่งใหม่ในโรงพยาบาลลึก 35 เมตร สามารถนำน้ำมาปรับปรุงคุณภาพและใช้บริการผู้ป่วยได้
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศขณะนี้ มี 14 จังหวัด 71 อำเภอ เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง