"ตั้งแต่วันที่ 1-11 มกราคม 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ 583 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเป็นในกลุ่มอายุ 15-24 ปีร้อยละ 31.39 แสดงให้เห็นว่ามีการระบาดในกลุ่มนักเรียนไปจนถึงวัยทำงาน จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยต่อแสนประชากรสูง 5 อันดับแรก ได้แก่ นครปฐม ภูเก็ต พิจิตร ศรีสะเกษ และสงขลา ซึ่งช่วงนี้เป็นฤดูหนาวไม่ใช่ฤดูการระบาดของโรค แต่จากการวิเคราะห์และพยากรณ์โรคไข้เลือดออก ของกรมควบคุมโรคคาดว่า ปี 2559 จะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกประมาณ 166,000 คน สูงกว่าปี 2558 ที่ตลอดปีพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 142,925 คน เสียชีวิต 141 ราย โดยจะพบผู้ป่วยเฉลี่ย 5,000-7,500 คนต่อเดือน และจะพบสูงขึ้นในฤดูฝนช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมอาจมากกว่า 25,000 รายต่อเดือน...ช่วงนี้เป็นเวลาสำคัญ โอกาสทองในการกำจัดลูกน้ำยุงลายให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อลดการเกิดโรคในฤดูฝนของปีนี้" นพ.โสภณ กล่าว
ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมฯ ได้กำหนดให้โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่เร่งรัดรณรงค์ต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตให้มากที่สุด เนื่องจากโรคนี้มียุงลายเป็นพาหนะนำโรค การลดจำนวนตัวยุงลาย จึงเป็นมาตรการที่สำคัญในการควบคุมป้องกันโรค โดยแนะนำให้ประชาชนใช้มาตรการ 3 เก็บ ได้แก่ 1. เก็บบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ปลอดโปร่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะ รอบๆ บ้าน ทั้งใบไม้ กล่องโฟม จานรองกระถางต้นไม้ ต้องเก็บกวาด ฝัง เผา หรือทำลาย และ3.เก็บน้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ ดำเนินการไปพร้อมๆการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ทั้งการทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือวิธีป้องกันยุงโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออกที่พบในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากไวรัสเดงกี่ ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ คือ เดงกี่ 1, เดงกี่ 2, เดงกี่ 3 และ เดงกี่ 4 อาการหรือสัญญาณอันตรายของไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้สูงลอยเกิน 2 วัน ไข้จะสูงเกิน 38.5องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร อาเจียน เมื่อกินยาลดไข้แล้วไข้มักจะไม่ลดลง หรืออาจลดลงชั่วคราวแล้วกลับมาสูงอีก หลังจากนั้นจะมีอาการเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ เช่น มีเลือดกำเดา มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนังที่แขนขา ข้อพับ ผิวหนัง เลือดออกในอวัยวะภายในโดยอาเจียนเป็นเลือด หรือ ถ่ายเป็นเลือด เป็นต้น ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที โรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ การรักษาแบบประคับประครอง การเฝ้าสังเกตอาการจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงไข้ลด และขอให้ระมัดระวังเป็นพิเศษในกลุ่มเสี่ยง เช่น คนอ้วน ผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงมีประจำเดือน ผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็ก เตือนประชาชน หากมีไข้สูง อย่าซื้อยากินเอง เพราะยาบางชนิด แม้มีฤทธิ์ในการลดไข้ได้ดี แต่ตัวยาเองมีฤทธิ์ทำให้เลือดออกได้ง่าย ยาลดไข้ที่ใช้ คือ ยาพาราเซตามอลเท่านั้น ต้องรีบไปพบแพทย์