"หากเราไม่ทำตามหลักสากล เขาให้ใบแดงก็จบเลย จะไม่มีรายได้เข้ารัฐ ปัญหานี้สะสมมาหลายรัฐบาลแล้ว แต่ผมก็ไม่ได้โทษใคร รัฐบาลนี้มาก็ช่วยแก้ไขดำเนินการให้เป็นไปตามหลักสากล" พล.อ.ประวิตร กล่าว
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลพยายามดำเนินการทุกอย่างให้ถูกต้องตามหลักสากล จัดระเบียบทั้งหมด ซึ่งในวันที่ 22 ม.ค.นี้ จะได้ชี้แจงคณะผู้บริหารอียูในทุกขั้นตอนว่าหลังมีการให้ใบเหลือง รัฐบาลได้ดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว และจะสอบถามว่าพอใจหรือไม่ หากยังไม่พอใจก็ให้ชี้ว่าเป็นจุดไหน พร้อมขอคำแนะนำเพื่อจะได้นำไปปรับปรุงต่อไป โดยขณะนี้กระทรวงต่างประเทศกำลังรวบรวมรายงานอยู่
ส่วนการส่งรายงานทริปรีพอร์ตไปยังสหรัฐอเมริกานั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มั่นใจว่าจะทำให้ไทยพ้นจากเทียร์ 3 หรือไม่ เพราะตนเองไม่ใช่กรรมการในการตรวจสอบ แต่คิดว่าน่าจะดีขึ้นจากสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ผู้แทนกรมประมง และผู้แทนศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลไทยได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) อย่างเข้มงวด เพื่อให้การทำการประมงของไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากล ประกอบกับกรมศุลกากรได้ให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวกทางการค้าควบคู่กับ การใช้เทคโนโลยีในการควบคุมทางศุลกากร โดยกรมศุลกากรและกรมประมงร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ “Anti IUU Fishing" โดยมีรูปแบบการใช้งานแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1. ส่วน Public Document เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร กรมประมง ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เป็นต้น เพื่อเผยแพร่สำหรับบุคคลที่สนใจ ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
2. ส่วน Official Document ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะสามารถเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องมีการ log in ด้วยรหัสสำหรับเจ้าหน้าที่ และเมื่อ log in เข้าไปในระบบ จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ 2 ส่วน คือ ส่วน Document สำหรับเจ้าหน้าที่เพื่อค้นเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น พิธีการเฉพาะ คู่มือการปฏิบัติงานร่วมระหว่างกรมศุลกากรและกรมประมง แผนผังการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำ พิกัดอัตราศุลกากร เป็นต้น และส่วน Search เป็นส่วนที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติอยู่หน้างานของกรมศุลกากรและกรมประมงสามารถใช้ตรวจสอบรายชื่อเรือที่ผิดกฎหมาย รายชื่อเรือที่แจ้งเข้า รายชื่อสินค้าสัตว์น้ำ รายชื่อผู้ประกอบการ ใบอนุญาต เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานในการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สินค้าสัตว์น้ำ
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การจัดทำแอปพลิเคชัน “Anti IUU Fishing" นี้ นอกจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในการตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูล ซึ่งจะทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องให้ผู้ที่สนใจทราบด้วย