“การดำเนินงานในระหว่างนี้เป็นเพียงระยะเริ่มต้นที่แต่ละหน่วยงานจะนำแผนที่ของตนมาบูรณาการจัดทำแผนที่ใหม่ในมาตราส่วนเดียวกันคือ 1:4000 เป็นแผนที่เดียว ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงไม่อยากให้ประชาชนรู้สึกกังวล ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน หรือทำให้การดำเนินงานเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นปัญหาต้องหยุดชะงักลง เช่น การออกโฉนดให้กับพื้นที่ที่ถูกต้อง"
พลตรีสรรเสริญ กล่าวต่อว่า เมื่อได้แผนที่มาตรฐานเดียวกันแล้ว คณะอนุกรรมการด้านเทคนิค 5 คณะ ซึ่งประกอบด้วยหลายหน่วยงาน จะลงไปสำรวจข้อมูลจริง ตรวจสอบกฎหมาย และรายละเอียดของแผนที่อีกหลายขั้นตอน เพื่อให้เกิดความถูกต้องชัดเจน และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยหากพบว่าพื้นที่ใดมีปัญหาทับซ้อนให้ชะลอการดำเนินงานออกไปก่อน จนกว่าคณะทำงานจะได้ข้อยุติ และนำเสนอ ครม.พิจารณาโดยละเอียดอีกครั้ง
“ท่านนายกฯ เน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาต้องให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ไม่ทำให้เขาเดือดร้อน โดยได้กำชับให้ มท. และ ทส. เร่งตรวจสอบว่า ขณะนี้มีพื้นที่ใดที่ยังมีการออกโฉนดค้างอยู่โดยเฉพาะในบริเวณที่ไม่มีปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อนให้ดำเนินการตามภารกิจและกฎหมายที่มีอยู่ต่อไป ส่วนพื้นที่ใดที่มีปัญหาให้รอผลการพิจารณาก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการที่ดินให้เป็นระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน"