"ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง) 13 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และพะเยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี รวม 60 อำเภอ 333 ตำบล 3,092 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 4.12 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ" นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันฯ กล่าว
ทั้งนี้กรมป้องกันฯ ได้ประสานจังหวัดแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยใช้กลไก “ประชารัฐ" ในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและวางแผนการจัดสรรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ แผนการจัดสรรน้ำ มาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหา และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยของภาครัฐ พร้อมบูรณาการความร่วมมือฝ่ายพลเรือนและหน่วยทหารลงพื้นที่สำรวจปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำ ความต้องการใช้น้ำ และเฝ้าระวังบริเวณจุดเสี่ยงที่มักมีการลักลอบสูบน้ำและเกิดปัญหาแย่งน้ำ จัดทำประชาคมกำหนดกติกาการใช้น้ำให้เป็นไปอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม อีกทั้งรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำที่มีปริมาณจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งได้จัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจัดทำบัญชีปริมาณน้ำในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการสูบน้ำดิบเข้าสู่ระบบประปาหมู่บ้านและถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านให้ประชาชนได้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม แม้ระยะนี้หลายพื้นที่จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง แต่ปริมาณฝนไม่มากเพียงพอที่จะเติมน้ำในเขื่อนและคลี่คลายสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำสาธารณะยังต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ย จึงขอให้ประชาชนจัดหาทำความสะอาด ซ่อมแซมภาชนะกักเก็บน้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ สำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภคและใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนเกษตรกรควรติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ โดยเลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรัง เพื่อป้องกันมิให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย จะช่วยให้มีน้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง