"ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไข้ซิกาครั้งแรกในปี 2555 จนถึงปี 2558 พบผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 5 คน ส่วนในปี 2559 พบผู้ป่วยแล้ว 1 คน ยังไม่มีการระบาดในประเทศไทย ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก โรคนี้ส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง ไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต มีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ โดยข้อมูลจากต่างประเทศบ่งชี้ว่าอาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดมาพิการได้ ซึ่งคล้ายกับกรณีที่หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโรคอื่นๆ เช่น โรคหัดเยอรมัน" นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคนี้อย่างต่อเนื่องใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 2.การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา 3.การเฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด และ4.การเฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท รวมทั้งมีการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ และความพร้อมด้านการดูแลรักษา ตลอดจนการควบคุมแมลงพาหะนำโรค คือยุงลาย ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับพาหะนำโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และไข้เหลือง
ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้ซิกาสามารถพบได้ทุกภาคของประเทศ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงเท่าโรคไข้เลือดออก มีอาการไข้ ผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ อาการเหล่านี้ทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ให้ศีรษะเล็กตั้งแต่แรกเกิด
วิธีป้องกันโรคไข้ซิกาที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้ยุงกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในและนอกบ้านากจำเป็นต้องเดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคต้องระมัดระวังป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายาป้องกันยุง หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงเดินทางไปประเทศดังกล่าวหรือควรปรึกษาแพทย์ ส่วนผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด หากมีอาการข้างต้นสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
สำหรับประเทศที่มีการระบาดของโรคไข้ซิกาขณะนี้มี 20 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ประเทศบาร์เบโดส สาธารณรัฐโบลิเวีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล สาธารณรัฐโคลอมเบีย สาธารณรัฐเอกวาดอร์ สาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์ ดินแดนเฟรนซ์เกียนา ดินแดนกัวเดอลุป สาธารณรัฐกัวเตมาลา สาธารณรัฐสหกรณ์กายอานา สาธารณรัฐเฮติ สาธารณรัฐฮอนดูรัส เกาะมาร์ตีนิก สหรัฐเมกซิโก สาธารณรัฐปานามา สาธารณรัฐเปอร์โตริโก เกาะเซนต์มาร์ติน สาธารณรัฐซูรินาเม และสาธารณรัฐเวเนซูเอลา