ปลัด สธ.เตือนผู้ปกครองเฝ้าระวังดูแลลูกหลานช่วงโรคมือเท้าปากแพร่ระบาด

ข่าวทั่วไป Saturday January 30, 2016 14:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยปี 2559 พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากจำนวน 2,010 คน กว่าร้อยละ 73 เป็นเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี ภาคเหนือมีอัตราป่วยสูงสุด โรคนี้ทุกปีระบาด 2 ช่วงคือฤดูหนาวและฤดูฝน กำชับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ป้องกันควบคุมโรคตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตลงได้เช่นปี 2558 ที่พบป่วยเพียง 4 หมื่นกว่าคน

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ช่วงเดือนแรกของปี 2559 พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก 2,010 คน จาก 74 จังหวัด ภาคเหนือมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกว่าร้อยละ 73 เป็นเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี

ทั้งนี้ สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ได้วิเคราะห์ข้อมูลการระบาดของปี 2558 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก 40,517 คน เสียชีวิต 3 ราย ได้มีการเร่งรัดควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้นตลอดปี ทำให้ลดจำนวนผู้ป่วยในช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังพบการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตุลาคมจนถึงสิ้นปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาในช่วงต้นปี 2559 ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ตอนบน ซึ่งมีการระบาดต่อเนื่องมาจากปลายปี 2558

โดยปัจจัยที่ส่งเสริมการระบาดของโรคมือเท้าปากนั้นส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ประชาชนละเลยการล้างมือ รวมทั้งการมีฝนตกชุกในพื้นที่ภาคใต้ เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งรัดรณรงค์ขอความร่วมมือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลในพื้นที่ ดำเนินการป้องกันควบคุมโรค ตามมาตรการของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้มีเด็กป่วยและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นในปี 2559

ขอความร่วมมือศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลดำเนินการดังนี้ 1.ตรวจคัดกรองเด็กเป็นประจำทุกวันในตอนเช้า 2.แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ โดยให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน 3.หลีกเลียงไม่ให้เด็กป่วยเล่นคลุกคลีกับเด็กปกติ และเมื่อป่วยควรพักรักษาอยู่ที่บ้าน 4.ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ หรือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรกปนเปื้อนเชื้อโรค ได้แก่ ก่อนรับประทานอาหารหลังเข้าห้องส้วม ก่อนและหลังทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้ ของเล่น เป็นประจำทุกสัปดาห์ และทุกครั้งที่พบมีเด็กป่วย 5.หากพบเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที

สำหรับโรคมือเท้าและปากเกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส ผู้ป่วยจะมีไข้ มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก ที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม และเกิดผื่นแดง ตุ่มพองใสรอบๆ แดงที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ และฝ่าเท้า โรคนี้รักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ กระตุ้นให้รับประทานอาหาร ให้อาหารเหลวหรืออาหารที่มีอุณหภูมิต่ำ เช่น ไอศกรีม ให้ยาทาแผลในปาก เป็นต้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 5-7 วัน ในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก้านสมองอักเสบ ปอดบวมน้ำ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และระบบหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ทำให้เสียชีวิต โดยมีสัญญาณอันตรายได้แก่ ไข้สูงไม่ลดลง ซึม อาเจียนบ่อย หอบ และแขนขาอ่อนแรง เกิดภาวะอัมพาตคล้ายโปลิโอ ให้รีบพบแพทย์ทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ