ทั้งนี้ กฟผ.จะดำเนินการระบายน้ำตามมติคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ภายใต้แผนการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับในแต่ละเขื่อนของ กฟผ.ได้มีการระดมความช่วยเหลือภัยแล้งแก่ชุมชนโดยรอบอย่างสม่ำเสมอ และวางแผนการระบายน้ำในฤดูแล้ง ให้เป็นไปตามแผนการระบายน้ำของกรมชลประทานและคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งปี 2559 ที่จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ปัจจุบันเขื่อนภูมิพล ระบายน้ำวันละ 5 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ ระบายน้ำวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนศรีนครินทร์ ระบายน้ำวันละ 7 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณ์ ระบายน้ำวันละ 9 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนอุบลรัตน์ ระบายน้ำวันละ 0.5 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังรณรงค์ให้พนักงาน กฟผ. ใช้น้ำอย่างประหยัด ตั้งเป้าลดการใช้น้ำลงอย่างน้อยร้อยละ 10 สอดคล้องกับเป้าหมายที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติกำหนด ใช้แนวทางตามหลัก 3R คือ 1. การลดใช้น้ำ (Reduce) 2. การใช้ซ้ำ (Reuse) 3. การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดย กฟผ. ขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดการใช้น้ำตั้งแต่วันนี้ เพื่อเราจะได้ผ่านวิกฤตภัยแล้งนี้ไปด้วยกัน
"กฟผ.เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ มีหน้าที่กักเก็บน้ำไว้ เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรกรรม การอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม และการบรรเทาอุทกภัยเป็นหลัก ส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นเพียงผลพลอยได้จากการปล่อยน้ำผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตามความต้องการใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ตามกล่าวข้างต้น"ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าวในที่สุด
ด้านปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 จากเขื่อนทั้ง 4 แห่ง (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) รวม 4,247 ล้าน ลบ.ม. ลุ่มน้ำแม่กลอง มีปริมาณน้ำต้นทุน จากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์ รวม 4,748 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำพอง (เขื่อนอุบลรัตน์) มีปริมาณน้ำต้นทุน เพียง 230 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก และไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำพอง อันเป็นสถานการณ์ที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง