ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พ.ค.58 ได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (พ.ศ.2558 – 2569) มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำในเขตชลประทาน การขุดสระน้ำในไร่นา และการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 481 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.พ.59) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 16,649 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 33 และสถานการณ์ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 4 อ่างฯ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 3,434 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 19
นายธีรภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า มติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ระดับชาติ (ศก.กช.) จำนวน 8 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน 386,809 ราย 2) มาตรการชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 782,789 ราย 3) มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 98,888 ราย
4) มาตรการเสนอโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง 9,771 โครงการ 5) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 6) มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 7,829 แห่ง 7) มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ 8) มาตรการสนับสนุนอื่น ๆ เช่น การให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง เป็นต้น
"ผลสัมฤทธิ์จากการแก้ไขปัญหาภัยแล้งสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง จาก 8 ล้านไร่ ในปี 57/58 เหลือ 4 ล้านไร่ ในปี 58/59 ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สร้างโอกาสทางด้านอาชีพที่เกิดจากความต้องการของชุม รวมถึงการมีแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกด้วย" ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแนวทางการบริหารงานโดยให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง การให้ความสำคัญทั้งในเรื่องพืช ประมง และปศุสัตว์ อีกทั้งยังมีการพัฒนา Single Command ให้มีความเข้มแข็ง มีการบูรณาการการทำงาน รวมถึงสามารถประสานงานในเชิงนโยบายได้ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใน 6 ด้าน ได้แก่ 1) การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน 2) แปลงใหญ่ 3) Zoning 4) 882 ศูนย์ 5) ธนาคารสินค้าเกษตร และ 6) เกษตรอินทรีย์