พร้อมให้ความสำคัญกับการใช้กลไก "ประชารัฐ" ในการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ถึงสถานการณ์น้ำ ปัญหาภัยแล้ง และความจำเป็นของภาครัฐในการลดการระบายน้ำเพื่อการเกษตรและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น อาทิ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และฉะเชิงเทรา ให้เพิ่มความเข้มข้นในการรณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรังเพิ่ม และงดสูบน้ำจากแม่น้ำลำคลองเข้าพื้นที่การเกษตร
สำหรับกรณีการลักลอบสูบน้ำคลองมะขามเฒ่าอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ให้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เจรจาสร้างความเข้าใจต่อประชาชนมิให้ลักลอบสูบน้ำจากคลองส่งน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปา เพราะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา รวมถึงติดตามปริมาณการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะแหล่งน้ำดิบที่มีปัญหาน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา ให้บูรณาการหน่วยทหาร โครงการชลประทานจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด จัดหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับนำน้ำไปเติมในแหล่งน้ำผลิตน้ำประปา และแจกจ่ายน้ำแก่ประชาชน
ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 14 จังหวัด 54 อำเภอ 274 ตำบล 2,487 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 3.32 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ โดยบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่และเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน