โดยระยะเร่งด่วนได้มอบหมายให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนการขุดลอกบึงบอระเพ็ดในปี 2559 พร้อมงบประมาณที่จะต้องขอเพิ่มเติมก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝน โดยมีเป้าหมายเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้กว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เน้นพื้นที่ที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่ที่มีการขุดลอกไว้เดิมแล้ว เพื่อให้ประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำมีเพิ่มมากขึ้น สำหรับการอุปโภคบริโภค การเกษตร ควบคู่กับการพัฒนาปรับปรุงทัศนีภาพ เพื่อพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย สำหรับงบประมาณดำเนินการในส่วนที่งบปกติไม่เพียงพอจะเร่งรัดดำเนินการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาจัดสรรงบกลางดำเนินการภายในต้นเดือน มี.ค.นี้ เพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินการขุดลอกภายในเดือน เม.ย.59 ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน
ส่วนแผนระยะยาวนั้น กรมชลประทานเคยทำการศึกษาจัดทำแผนแม่บทโครงการพัฒนาบึงบอระเพ็ดไว้ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งมีทั้งหมด 9 ยุทธศาสตร์หลัก คือ ยุทธศาสตร์การกำหนดแนวเขตบึงและควบคุมการพัฒนาพื้นที่บึงบอระเพ็ด, ยุทธศาสตร์การพัฒนาบึงบอระเพ็ดและลุ่มนาบึงบอระเพ็ดให้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการ อุปโภค บริโภคและเพื่อการเกษตร, ยุทธศาสตร์การเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและแหล่งส่งเสริมการประมงเพื่อ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น, ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หรือรักษาระบบนิเวศวิทยา, ยุทธศาสตร์การพัฒนาบึงบอระเพ็ดให้เป็นแหล่งสงวนพันธุ์สัตว์ป่า, ยุทธศาสตร์การพัฒนาบึงบอระเพ็ดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์, ยุทธศาสตร์การบรรเทาปัญหาน้ำท่วมจากน้ำหลากและน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่รอบๆ บึงบอระเพ็ด, ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินในลุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด และยุทธศาสตร์การดำเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพ
สำหรับบึงพอระเพ็ดเป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 2.81 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ และลพบุรี แต่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 180.33 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีลุ่มน้ำสาขาที่สาคัญคือ คลองบอนและคลองท่าตะโก แหล่งน้ำของบึงบอระเพ็ดมี อยู่ 2 แหล่งน้ำที่สำคัญ คือ แหล่งน้ำจากลำน้ำสาขาภายในลุ่มน้ำ และแหล่งน้ำจากแม่น้ำน่านที่ไหลบ่าในช่วงฤดูน้ำหลาก