ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งให้มีการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีการตรวจพบจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่การเกษตรเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลในปีที่แล้ว ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของทุกปี ตรวจพบว่าเกิดการเผาในพื้นที่เกษตรใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน เชียงราย ตาก ลำปาง พะเยา แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน และอุตรดิตถ์ ภาคเหนือรวม 1.83 ล้านไร่ มีตำบลที่มีการเผาในระดับสูงกว่า 200 ตำบล จะมีสภาพหมอกควันปกคลุมหนาแน่นเป็นบริเวณกว้าง อันมีสาเหตุหลักเกิดจากเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นาและการเผาป่า เพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรรอบใหม่ซึ่งผลเสียที่เกิดขึ้นจากการเผานี้จะเกิดหมอกควันไฟและฝุ่นละออง ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัดส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อการทำลายโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้สูญเสียน้ำในดิน เนื้อดินจับตัวกันแน่นแข็ง สูญเสียอินทรียวัตถุ และธาตุอาหารในดิน
มาตรการแก้ไขปัญหาและเป้าหมายในการดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรในปี 59 กรมส่งเสริมการเกษตรจะเร่งสร้างเกษตรกรต้นแบบสร้างชุมชนเกษตรปลอดการเผาต้นแบบใน 20 จังหวัด และเป็นจุดเรียนรู้และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นที่มีปัญหาการเผาต่อไปในพื้นที่เป้าหมาย คือ ตำบลที่มีการเผาในระดับสูง ขณะที่กรมพัฒนาที่ดินร่วมกับหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านต่าง ๆ ทำการรณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรทราบถึงผลเสียของการเผาตอซังพืช และให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้วิธีการไถกลบตอซังพืชร่วมกับการใช้น้ำหมักชีวภาพ พด.2 แล้วไถกลบ
พร้อมจัดทำแปลงสาธิตการเรียนรู้การไถกลบตอซัง จำนวน 50 แปลง แปลงละ 20 ไร่ ใน 10 จังหวัด และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา โดยขับเคลื่อนด้วยกลไกของศูนย์บริการการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ส่วนกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อลดหมอกควัน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ ตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ติดตามสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ โดยพร้อมออกปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติการ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 1 มีนาคม 59 เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาปัญหาหมอกควันโดยใช้อากาศยาน CASA 2 ลำ
ด้าน นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ได้ให้สถานีพัฒนาที่ดินทั้ง 10 จังหวัด ร่วมกับหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านต่าง ๆ ทำการรณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรทราบถึงผลเสียของการเผาตอซังพืช รับรู้ถึงข้อดีและประโยชน์ของการใช้วิธีไถกลบตอซังพืชลงไปในดิน ซึ่งเกษตรกรสามารถทำเองได้โดยมีค่าใช้จ่ายต่ำ ได้ผลในการปรับปรุงโครงสร้างดินและบำรุงดินได้เป็นอย่างดี ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ โดยการทำน้ำหมักชีวภาพที่ได้จากการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 หมักกับพืช ผัก หรือเศษอาหารตามบ้านเรือนนำมาช่วยในการหมักย่อยสลายตอซังพืช ช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ดินซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายตอซังได้ดี ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการผลิต และช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีลงได้อย่างดี