นพ.
สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด
กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีภัยแล้ง ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการเตรียมการรองรับภัยแล้ง ว่า ได้ทำหนังสือแจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง ติดตามสถานการณ์เตรียมแผนรับภาวะภัยแล้ง และรายงาน
ข้อมูลและความต้องการสิ่งสนับสนุนมายังศูนย์ฯ พร้อมทั้งย้ำมาตรการดูแลประชาชนในช่วงภัยแล้ง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากอาหารและน้ำ เช่น อุจจาระร่วงจากอาหารเป็นพิษ หรือการปนเปื้อนเชื้อโรค เช่นบิด อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ เน้นการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนให้ระมัดระวังความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม ภาชนะใส่อาหารนอกจากนี้ ได้ให้ศูนย์อนามัยร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เฝ้าระวังความสะอาดของน้ำดื่ม น้ำใช้ โดยการตรวจคุณภาพน้ำในโรงพยาบาลที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ และในชุมชนที่มีปัญหาภัยแล้ง ทั้งน้ำประปาและน้ำที่จุดบริการแจกจ่ายในชุมชน รวมทั้งออกตรวจความสะอาดตลาดสด ร้านอาหารต่างๆ ประสานความร่วมมือกับอสม. ประชาชน ดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ เฝ้าระวังโรคระบาดในชุมชน และจัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ที่พบผู้ป่วยเพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด พร้อมทั้งพิจารณาจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บรรเทาทุกข์ประชาชนด้วย
สำหรับสถานบริการสาธารณสุขใน 14 จังหวัดที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้ง และจังหวัดที่เสี่ยงภัยแล้งมาก ทุกแห่งสามารถให้บริการได้ตามปกติ ไม่มีผลกระทบต่อบริการประชาชนแต่อย่างใด โดยโรงพยาบาลได้วางแผนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ประสานความร่วมมือกับการประปาส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่ ในการจัดหาน้ำอุปโภค บริโภคเพียงพอสำหรับการบริการประชาชน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องอาหารและน้ำดื่ม ควรกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ อาหารที่ต้องเก็บนานเกิน 4 ชั่วโมงให้เก็บไว้ในตู้เย็น อุ่นอาหารที่เก็บค้างมือก่อนนำมารับประทาน ใช้ช้อนกลาง ไม่ใช้มือหยิบจับอาหาร และดื่มน้ำสะอาด โดยนำมาต้มให้เดือดอย่างน้อย 5 นาที หรือดื่มน้ำบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. ขวดน้ำอยู่ในสภาพดี รวมทั้งเก็บขยะและกำจัดขยะ โดยการเผาหรือฝังอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงและสัตว์พาหะนำโรค
อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี โทร.02-2535000 ต่อ 322 อีเมล์: nisarat@infoquest.co.th--