กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 8 จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือวาตภัย ฝนตกหนักและคลื่นลมแรง โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเล และพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดเตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากภัยธรรมชาติในระยะนี้ไว้ด้วย พร้อมตรวจสอบความปลอดภัยของสถานที่ท่องเที่ยวริมชายฝั่งทะเล หากเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากคลื่นลมแรง ให้แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวไม่ลงเล่นน้ำ และงดประกอบกิจกรรมทางน้ำ อีกทั้งตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันการล้มทับ ก่อให้เกิดอันตรายได้
กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากห่างฝั่งทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ที่สำคัญ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางน้ำควรตรวจสอบสภาพอากาศและรับฟังประกาศเตือนภัยจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด กรณีเกิดคลื่นลมแรงควรพิจารณางดหรือเลื่อนการเดินเรือ รวมถึงการประกอบกิจกรรมทางน้ำในช่วงดังกล่าว