น.อ.เบญจมาพร วงศ์นครสว่าง ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ สำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการ ส่วนประชาสัมพันธ์ ศปมผ. กล่าวหลังจากการเยี่ยมชมโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำบ้านพรุ ของซีพีเอฟ ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ว่า CPF ดำเนินการระบบตรวจสอบย้อนกลับที่มาของวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์น้ำอย่างจริงจังและ มีกระบวนการตรวจสอบที่ได้มาตรฐานสากล สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมืออย่างจริงจังของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนเพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทำประมงของไทยได้รับการยอมรับของนานาประเทศทั่วโลก
"การดำเนินงานของ ศปมผ.ในการดูแลแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายของประเทศไทยมีส่วนสนับสนุนให้ระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตุถุดิบอาหารสัตว์น้ำของภาคเอกชนมีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐาน ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับภาครัฐ และนานาประเทศถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา IUU ของไทยมีความคืบหน้าที่ดีและเป็นรูปธรรม"น.อ.เบญจมาพรกล่าว
นายจรัส อัศวชาญชัยสกุล รองกรรมการผู้จัดการ CPF กล่าวว่า ปัจจุบัน CPF มีความเข้มงวดในการซื้อและการใช้ปลาป่นในโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ โดยจะซื้อวัตถุดิบจากผู้ผลิตปลาป่นที่ได้การรับรองมาตรฐาน IFFO RS CoC (International Fishmeal and Fish Oil Organization Responsible Supply Chain of Custody) ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดระดับโลกในการผลิตและการใช้ปลาป่นด้วยความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันบริษัทฯยังมีการใช้วัตถุดิบภายในโรงงานอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้จนถึงต้นทาง
"บริษัทฯมั่นใจว่าปลาป่นที่เราใช้ทุกวันนี้ สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้ 100%"นายจรัสกล่าว
นอกจากนี้ CPF ยังคงเดินหน้าเผยแพร่และถ่ายทอดระบบมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับอย่างเต็มรูปแบบที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันไปยังคู่ค้าและผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดซื้อและการใช้วัตถุดิบปลาป่นของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตามแนวทางความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน CPF มีการจำกัดจำนวนการซื้อปลาป่นเฉพาะจากผู้ผลิตที่ได้รับการรับรอง IFFO RS CoC เท่านั้น จากเดิมที่รับซื้อจากผู้ผลิตมากกว่า 50 ราย อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีความประสงค์ในการเพิ่มจำนวนซัพพลายเออร์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เพื่อรองรับการผลิตของบริษัทฯในอนาคต
CPF เริ่มดำเนินการระบบตรวจสอบย้อนกลับวัตถุดิบถึงแหล่งที่มาควบคู่กับการพัฒนาระบบมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2555 โดยในปี 2557 บริษัทเป็นผู้ผลักดันการก่อตั้ง Shrimp Sustainable Supply Chain Task Force ซึ่งประกอบด้วยพันธมิตรอุตสาหกรรม เช่นผู้ค้าปลีกชั้นนำของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ผู้ผลิตในประเทศไทย และองค์กรอิสระระดับสากล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลของไทยว่าปราศจากแรงงานบังคับและแรงงานผิดกฎหมาย และได้เริ่มโครงการนำร่องเพื่อการทวนสอบข้อมูลหน้าท่า (Validation at Port Project) ที่เป็นการตรวจสอบเพิ่มเติมเกินกว่ามาตรฐานพื้นฐานที่กฎหมายไทยกำหนด เช่น ทะเบียนเรือ อาชญาบัตร การติดตั้ง VMS เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการตามมาตรฐานต่างๆ ของบริษัทฯ ได้รับการรับรองจากผู้ตรวจสอบอิสระระดับสากล เพื่อให้มั่นใจความถูกต้องของข้อมูล
การเข้าเยี่ยมชมระบบตรวจสอบทวนกลับในห่วงโซ่การผลิตโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำบ้านพรุ ของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ในวันนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของซีพีเอฟในการปฏิบัติตามระบบที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและถูกต้องตามหลักปฏิบัติของกฎหมายประมงไทย เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าวัตถุดิบที่บริษัทฯใช้ในการผลิตนั้นถูกต้องตามกฎหมาย