1.สำรวจคุณภาพน้ำ ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ พัฒนาคุณภาพน้ำให้เหมาะสม จัดทำน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยสนับสนุนคลอรีน ชุดทดสอบคลอรีนคงเหลือในน้ำ ชุดทดสอบแบคทีเรียในน้ำ/อาหาร 2.สำรวจเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากภัยแล้ง เน้นในจังหวัดที่เสี่ยงภัยแล้งมาก และ 3.การสำรองน้ำสำหรับสถานบริการให้เพียงพอกับการจัดบริการประชาชน จัดหาแหล่งน้ำสำรองพร้อมวางแผนการขนส่งน้ำ
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ได้รับรายงานสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ 13 จังหวัด 60 อำเภอ 333 ตำบล มีโรงพยาบาลได้รับผลกระทบ 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอยงาม และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลป่าหุง จ.เชียงราย ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค น้ำประปาไม่ไหลกระทบบริการทันตกรรม โรงพยาบาลสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โรงพยาบาลเวียงเก่า จ.ขอนแก่นขาดแคลนน้ำใช้ ส่วนโรงพยาบาลพระทองคำ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำให้บริการผู้ป่วย น้ำมีตะกอนแร่ธาตุเกินมาตรฐาน ทั้งหมดได้รับการแก้ไขปัญหาโดยการประสานกับหน่วยบริการประปาในพื้นที่ จัดหาแหล่งน้ำสำรอง จัดทำระบบประปาผิวดิน ปรับปรุงคุณภาพน้ำตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในส่วนการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพในจังหวัดประสบภัยแล้ง ในเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วย 2,216 คน โรคที่พบคือโรคอุจาระร่วง 1,425 คน อาหารเป็นพิษ 147 คน ไข้ไทฟอยด์ 1 คน ไข้เลือดออก 125 คน ปอดบวม 147 คน ไข้หวัดใหญ่ 45 คน ที่เหลือป่วยเป็นไข้ไม่ทราบสาเหตุ ได้กำชับให้ทุกจังหวัดดำเนินการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ต่อเนื่อง หากพบผู้ป่วยให้สอบสวนควบคุมป้องกันทันที ไม่ให้โรคแพร่ระบาด
นอกจากนี้ ให้เร่งรัดตรวจมาตรฐานน้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด น้ำแข็ง ความสะอาดโรงอาหารโรงเรียน ร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร ตลาดสด ส้วมสาธารณะ พร้อมให้ความรู้ประชาชนถึงวิธีการปฏิบัติตัวไม่ให้ป่วย ด้วยมาตรการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ กำจัดขยะมูลฝอย แยกเขียงและมีดหั่นอาหารดิบกับอาหารสุก หากมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำติดต่อกันมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ หากอาการไม่ดีขึ้นให้ไปโรงพยาบาลทันที ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับหน่วยงานในสังกัดทุกสัปดาห์เพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิดและแก้ไขปัญหาได้ทันที