ทั้งนี้ หากพบเชื้อโรคดังกล่าวในพื้นที่ใดให้ใช้มาตรการ 3-3-1-5-14 ได้แก่ แจ้งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วภายใน 3 ชั่วโมง ทีมสอบสวนโรคลงสอบสวนโรคภายใน 3 ชั่วโมง และดำเนินการควบคุมโรค พ่นยาฆ่ายุงลายในรัศมี 100 เมตร ภายใน 1 วัน เพื่อให้การควบคุมป้องกันโรคได้ผล ไม่กระจายไปในวงกว้าง โดยประเมินจากค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย ภายใน 5 วันต้องเป็นศูนย์ คือ ไม่พบลูกน้ำยุงลายและไม่พบผู้ป่วยรายใหม่หลัง 14 วัน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการอย่างเข้มข้นทุกพื้นที่
สำหรับพื้นที่พบผู้ป่วยในประเทศได้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสามารถควบคุมโรคได้ดี ขณะนี้ใกล้ครบกำหนดการเฝ้าระวังแล้ว โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วและหน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วน ได้ร่วมมือลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและควบคุมโรค โดยประชาชนจะเป็นหลักสำคัญในการจัดการแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านของตนเอง ซึ่ง อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) สนับสนุนการดำเนินการทุกสัปดาห์และประเมินผลต่อไปยัง สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รายงานถึงกระทรวงสาธารณสุขต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “พิชิตลูกน้ำยุงลาย" ซึ่งช่วยประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคจากยุงลาย มีข้อมูลที่สำรวจความชุกชุมของลูกน้ำยุงลายในบ้าน มีฟังก์ชั่นการรายงานผู้ป่วยให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ลงพื้นที่สำรวจ เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด ขณะนี้ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์สามารถโหลดใช้งานได้แล้วในเพลย์สโตร์ ในส่วนของระบบ IOS กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา