ทั้งนี้ ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่ทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,960,000 ไร่ มีแนวโน้มทรงตัว ปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวแล้ว 240,000 ไร่ ยังคงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกประมาณ 1,720,000 ไร่ ซึ่งน้อยกว่าปี 2557/58 ที่ผ่านมา เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล มารณรงค์ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ
อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทุกกิจกรรมการใช้น้ำ ให้ร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรกรอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายหลัก ขอให้งดสูบน้ำเพื่อการทำนาปรัง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมากที่ผลผลิตจะเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ อาจจะไม่เพียงพอใช้ในอนาคต
สำหรับสถานการณ์ความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยกรมชลประทาน ได้มีการตรวจวัดค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดตรวจวัดน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สำแล มีค่าความเค็มเฉลี่ยประมาณ 0.15 กรัมต่อลิตร ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน เพื่อการผลิตประปาที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร ไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำดิบผลิตประปาของการประปานครหลวง รวมทั้ง ในลุ่มน้ำท่าจีน ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ปกติคือ ที่ปากคลองจินดา 0.30 กรัมต่อลิตร ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กล้วยไม้รับได้คือ 0.75 กรัมต่อลิตร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสวนกล้วยไม้ในคลองจินดาแต่อย่างใดเช่นกัน ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีนอย่างใกล้ชิด
ในส่วนของ ผลการจ้างแรงงานตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั่วประเทศ ล่าสุด(ณ 18 ก.พ. 59) กรมชลประทาน ได้ดำเนินการจ้างแรงงานไปแล้ว จำนวน 77,049 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 1,258.39 ล้านบาท จำแนกตามลุ่มน้ำได้ ดังนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 19,591 คน ลุ่มน้ำแม่กลอง 4,822 คน และลุ่มน้ำอื่นๆ 52,636 คน