กรมป้องกันฯ ประกาศภัยแล้ง 12 จ. สั่งเน้นบริหารจัดการน้ำ-เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง

ข่าวทั่วไป Friday February 26, 2016 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยกำชับให้ทุกจังหวัดตรวจสอบปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ และแหล่งน้ำตามธรรมชาติในพื้นที่ พร้อมสำรวจจุดเสี่ยงที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก เพื่อวางแผนรับมือและจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการใช้งาน กรณีแหล่งน้ำสำรองไม่เพียงพอเน้นการจัดหาน้ำสนับสนุนเพิ่มเติมด้วยการนำน้ำใต้ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ การสูบน้ำสนับสนุนแหล่งน้ำดิบ พร้อมใช้รถบรรทุกน้ำจัดส่งน้ำให้กับพื้นที่ขาดแคลนน้ำ โดยแบ่งมอบพื้นที่ในการดูแลรับผิดชอบอย่างชัดเจน

ขณะนี้มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 12 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 46 อำเภอ 216 ตำบล 1,893 หมู่บ้าน คิดเป็น 2.53% ของหมู่บ้านทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย นครสวรรค์ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี เพชรบุรี และสระแก้ว

นอกจากนี้ให้ใช้กลไกของฝ่ายปกครอง ทั้งนายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงจัดชุดปฏิบัติการสำรวจเส้นทางการไหลของน้ำ เพื่อป้องกันมิให้มีการปิดกั้นและลักลอบสูบน้ำนำไปใช้ผิดประเภทจนส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาและน้ำในการผลักดันน้ำเค็ม

สำหรับจังหวัดที่มีสาขาการประปาส่วนภูมิภาคเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำการผลิตน้ำประปา 11 สาขา และเฝ้าระวัง 51 สาขา อยู่ในพื้นที่ ให้เพิ่มความเข้มข้นในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับสูบน้ำเข้าแหล่งกักเก็บ และเร่งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่การกักเก็บน้ำและให้น้ำไหลได้อย่างสะดวกมากขึ้น ส่วนพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นพิเศษ ได้แก่ บริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง เป็นจำนวนมาก ให้กำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ

ส่วนจังหวัดที่สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงและเกินขีดความสามารถของจังหวัด สามารถขอรับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งจากส่วนกลาง พร้อมให้รายงานสถานการณ์แนวทางการแก้ไขปัญหาต่อกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำที่มีจำกัดอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งจนถึงช่วงต้นฤดูฝน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ