รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศไทยในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มีความยาวประมาณ 3,148 กิโลเมตร แบ่งเป็น ด้านอ่าวไทย 2,055 กิโลเมตร ด้านอันดามัน 1,093 กิโลเมตร ซึ่งมีลักษณะพื้นที่แบบหาดทรายร้อยละ 52, หาดโคลนร้อยละ 33, หาดหินร้อยละ 10, อื่นๆ ร้อยละ 5 โดยความรุนแรงของการกัดเซาะชายฝั่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับวิกฤต ระดับเร่งด่วน ระดับเฝ้าระวัง
สำหรับการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีแบบโครงสร้างแข็ง เช่น กำแพงป้องกันคลื่น เขื่อนหินทิ้ง รอดักทราย ระยะทางประมาณ 235.56 กิโลเมตร และแบบโครงสร้างอ่อน เช่น เสริมทราย ปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น ระยะทางประมาณ 89.52 กิโลเมตร
น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า แนวความคิดในการวางระบบในการป้องกันพื้นที่ชายฝั่งและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงและการกัดเซาะชายฝั่ง โดยอาศัยหลักการแก้ปัญหาที่อยู่บนพื้นฐานของการกลับคืนสู่สมดุลธรรมชาติ ในวิธีการที่สอดคล้องกับสภาพสังคม และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ในพื้นที่ การส่งเสริมให้เกิดภูมิคุมกันของชุมชนในพื้นที่ต่อปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้แนวคิดธรรมชาติสู่ธรรมชาติ สำหรับพื้นที่บริเวณบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยการปักไม้ไผ่ เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝังและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่นคงทางสังคมเศรษฐกิจชองชุมชน การปักไม้ไผ่จะช่วยชะลอคลื่น ปักไม้ไผ่แบบ 5 แถว และสร้างแนวป้องกันชายฝั่งโดยการปลูกต้นโกงกาง ผลปรากฏที่เห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบ ในแต่ละปีปรากฏว่า ที่บางปูเมื่อเริ่มโครงการในปี 2551 และภาพในปี 2558 ระยะเวลาผ่านไปประมาณ 7 ปี สามารถฟื้นคืนผืนป่าชายเลนได้ประมาณ 60 ไร่ และเพิ่มความสมบูรณ์ให้ผืนป่าชายเลนในบริเวณข้างเคียงได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังดำเนินการในจังหวัดต่าง ๆ อีก 16 จังหวัด ตั้งแต่ปี 2550-2558 ผลสรุปในขณะนี้คือปัญหาการกัดเซาะชายฝังสำหรับพื้นที่ป่าชายเลนได้แก้ไขให้ดีขึ้นได้ด้วยการปักไม้ไผ่ และปลูกต้นโกงกางเพิ่ม ส่วนการกัดเซาะชายฝั่งอื่น ๆ แต่ละแห่งจะต้องศึกษาพื้นที่เสียก่อน