อย่างไรก็ดี ยังมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่ต้องติดตามเฝ้าระวังเพื่อบรรเทาผลกระทบของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งการจ้างงานภาคเกษตรกรรมยังลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เพิ่มขึ้น อัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชน และการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกยังเพิ่มขึ้น สถานการณ์ความรุนแรงของเด็กและสตรี การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งความจำเป็นในการเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาพื้นฐานและเร่งผลิตกำลังคนให้มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
โดยการจ้างงานและรายได้เพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ผู้มีงานทำมีจำนวน 38,370,985 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.5 0.2 และ 0.2 ในไตรมาสแรกถึงไตรมาสที่สามที่ผ่านมา ตลอดทั้งปีจำนวนผู้มีงานทำลดลงร้อยละ 0.2 โดยการจ้างงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 3.6 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ส่วนการจ้างงานภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสาขาการผลิตอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และบริการท่องเที่ยว ผู้ว่างงานปี 2558 มีจำนวน 340,561 คน อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.88
ด้านหนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลง แต่การผิดนัดชำระหนี้ยังเพิ่มขึ้น โดยไตรมาสที่ 3 ปี 2558 หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ 10,839,611 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80.8 ต่อ GDP ทั้งนี้ คาดว่า ณ สิ้นปี 2558 หนี้สินครัวเรือนจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 81 ต่อ GDP
ด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษายังต้องเร่งดำเนินการต่อไป การประเมินผลการสอบ ONET ในปี 2553-2557 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลักไม่ถึงร้อยละ 50 ค่าเฉลี่ยวิชาหลัก ม.6 ต่ำสุด อยู่ระหว่างร้อยละ 29.52-37.31 ขณะที่ผู้เรียนสายอาชีพในระบบการศึกษาระดับ ปวส.-อนุปริญญาก็มีจำนวนลดลงเช่นกัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาเป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ
ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในไตรมาส 4 ของปี 2558 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 79.7 โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 357.6 และผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.5 และ 34.7 ในภาพรวมทั้งปี 2558 พบผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 25.4 โดยผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น 4 เท่า
ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเยาวชนที่ยังดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น ในไตรมาสสี่ของปี 2558 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่า 43,035 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 0.1 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 13,073 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 0.4 แต่ต้องเฝ้าระวังกลุ่มเยาวชนที่ยังดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น ตลอดปี 2558 มูลค่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 147,821 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.8 ขณะที่มูลค่าการบริโภคบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 58,491 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากปี 2557 โดยมีผู้สูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน มีสัดส่วนลดลงเป็นร้อยละ 19.9 ของประชากร จากร้อยละ 20.7 ในปี 2557 แต่เฉพาะกลุ่มอายุ 15-24 ปี เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.2
คดีอาญาโดยรวมลดลง ขณะที่คดีชีวิตร่างกาย เพศ และประทุษร้ายต่อทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ายาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้าน คดีอาญาโดยรวมทั้งไตรมาสสี่และภาพรวมของปี 2558 ลดลง โดยลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 24.9 ทั้งปี 2558 ลดลงร้อยละ 23.1 ขณะที่คดีชีวิตร่างกาย เพศ และประทุษร้ายต่อทรัพย์ทั้งไตรมาสสี่และภาพรวมของปี 2558 เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 6.5 และ 0.8 ทั้งปี 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 และ 3.6 โดยคดียาเสพติดยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 79 ของคดีอาญารวม โดยลดลงร้อยละ 28.1 จึงยังต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
การบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวดเพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุจราจรทางบกที่เพิ่มขึ้น การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกและมีผู้เสียชีวิตในไตรมาสสี่และภาพรวมของปี 2558 เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 20.9 และ 15.5 ทั้งปี 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 และ 1.1 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 พบการเกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2558 ร้อยละ 12.7 และ 11.4 สาเหตุหลักยังคงมาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถที่ไม่ปฎิบัติตามกฎจราจร
ประเด็นสังคมที่ต้องเฝ้าระวังและดำเนินการในปี 2559 นั้น ในส่วนของในประเทศ ได้แก่ 1.ภาวะภัยแล้งที่จะมีผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้เกษตรกร 2.การศึกษายังต้องเร่งพัฒนาในเชิงของคุณภาพอย่างต่อเนื่อง 3. การพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน 4.การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน 5.การติดตามโรคเฝ้าระวังและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 6.การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มข้น 7. การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง แต่ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อไป 8.การขยายหลักประกันทางสังคมโดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ 9. การเร่งขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติให้เป็นรูปธรรม
ขณะที่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ปัจจุบันได้มีการทำข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัติวิชาชีพต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ให้บริการวิชาชีพในการเข้ามาทำงานและพำนักอาศัย ซึ่งได้มีการลงนามใน 8 สาขาได้แก่ วิศวกร พยาบาล สถาปนิก การสำรวจ นักบัญชี ทันตแพทย์ แพทย์ และท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องติดตามในประเด็นการสร้างมาตรฐานแรงงานอาเซียนร่วมกัน และการเตรียมความพร้อมทั้งด้านการศึกษาและทักษะแรงงานในด้านต่างๆ นอกจากนั้น ควรให้ความสำคัญและติดตามในประเด็นการดำเนินการตามข้อตกลงการเปิดเสรีการลงทุนและบริการโดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นของต่างชาติในธุรกิจบริการ ซึ่งจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานที่สะดวกมากขึ้นและมีความหลากหลายในสาขาอาชีพของแรงงาน
ส่วนความเสี่ยงจากการเคลื่อนย้ายแรงงานและการลงทุนที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ต้องเร่งจัดระเบียบการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและเฝ้าระวังแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายให้ครอบคลุมทุกชาติ การปรับปรุงกฎระเบียบที่ว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดน การสร้างหลักประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ ควบคู่กับเร่งสร้างความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี การเปิดเสรีการค้าและบริการจะเป็นทั้งโอกาสให้กับประชาชนและธุรกิจบางกลุ่มที่มีความพร้อม ขณะที่ภาคธุรกิจหรือกลุ่มแรงงานที่ยังไม่สามารถแข่งขันจะได้รับผลกระทบ อาทิ ภาคเกษตร SMEs ผู้ด้อยโอกาสจะส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำและช่องว่างผลตอบแทนของกลุ่มต่างๆ ให้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ศักยภาพของคนไทยยังมีข้อจำกัดทั้งในด้านความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ และผลิตภาพแรงงานโดยรวมเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิก ซึ่งต้องเร่งพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารภาษาสากลและภาษาเพื่อนบ้าน ทักษะวิชาชีพ พัฒนาบริการพื้นฐานด้านสังคมเพื่อให้เอื้อต่อการเรียนรู้ รวมทั้งสร้างโอกาสและแต้มต่อในกลุ่ม ที่ยังขาดความพร้อม พัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมเพื่อรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น อาทิ คนยากจน แรงงานนอกระบบ