โดยในส่วนของ สธ.มีโรงพยาบาล (รพ.) ที่ได้รับผลกระทบ 3 แห่ง แต่ยังสามารถให้บริการประชาชนได้ตามปกติ และมีการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดย รพ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ได้ขุดบ่อน้ำบาดาล และเตรียมจัดทำประปาผิวดิน, รพ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น ประสานขนน้ำจากประปาภูมิภาคหนองเรือ อ.ภูเวียง มาเติมที่ถังประปาของ รพ.ทุกวัน อยู่ระหว่างหาแหล่งน้ำบาดาลและขอขยายขอบเขตการให้บริการน้ำประปา ส่วน รพ.พระทองคำเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา ขุดบ่อน้ำบาดาล 2 บ่อ อยู่ระหว่างจัดทำระบบกรองน้ำบาดาลเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้สามารถใช้ล้างเครื่องมือแพทย์ได้ และระบบสำรองน้ำไว้ใช้ในโรงพยาบาล
"ได้กำชับให้โรงพยาบาลในพื้นที่ภัยแล้งทุกแห่งเตรียมเก็บกักน้ำสำรองสำหรับให้บริการประชาชนและเจ้าหน้าที่ หากต้องการการสนับสนุนสามารถประสานมายังวอร์รูมได้ทุกวัน" นพ.โสภณ กล่าว
นอกจากนี้ ตนเองได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งสุ่มตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาในโรงพยาบาล โรงเรียน และสถานบริการสาธารณะอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ และป้องกันโรคที่พบบ่อยในช่วงหน้าร้อน เช่น โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โรคลมแดดและลมร้อน เด็กจมน้ำ ปัญหาความเครียด และการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่นความสะอาดของตลาดสด ร้านอาหาร การกำจัดขยะ เป็นต้น
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคในช่วงหน้าร้อนที่พบมากที่สุดคือ โรคติดต่อทางน้ำและอาหาร 5 โรค ได้แก่ อุจจาระร่วง อหิวาต์ อาหารเป็นพิษ ไทฟอยด์ และบิด โดยในปี 2558 มีผู้ป่วย 1,232,085 ราย เสียชีวิต 14 ราย จำนวนผู้ป่วยจะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนไปสูงสุดในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมของทุกปี นอกจากนี้ยังพบโรคลมแดดและลมร้อน ปีที่ผ่านมาพบเสียชีวิต 41 ราย ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ส่วนมากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีโรคประจำตัว แล้วออกไปทำงาน ทำกิจกรรมกลางแจ้งในขณะอากาศร้อน นอกจากนี้ ยังพบผู้จมน้ำเสียชีวิต 115 ราย ร้อยละ 84 เกิดเหตุในเดือนมีนาคมและเมษายน เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจมน้ำเสียชีวิตสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 66 ส่วนโรคพิษสุนัขบ้า รอบ 5 ปีที่ผ่านมาแนวโน้มคงที่ ในปี 2558 มีผู้เสียชีวิต 5 ราย เนื่องจากไม่ล้างทำความสะอาดแผล และไม่ฉีดวัคซีนหลังจากถูกสุนัขหรือแมวกัด ข่วน เพราะคิดว่าไม่น่าจะเป็นอันตราย จนเกิดอาการและเสียชีวิตในที่สุด