ส่วนเขื่อนกักเก็บน้ำ 10 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนแม่งัด เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนคลองศรียัด เขื่อนบางพระ เขื่อนกระเสียว เขื่อนลำปาว เขื่อนแม่กวง เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำพระเพลิง กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการหารือมาตรการติดตามเฝ้าระวัง และปรับแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อให้แผนการใช้น้ำสอดคล้องกับสถานการณ์ อาทิ การปรับแผนการส่งน้ำเขื่อนแม่งัดเป็น 1.2 ล้าน ลบ.ม./สัปดาห์ เป็นต้น ซี่งมีการประเมินแล้วว่าเพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคในจังหวัดตลอดแนวเส้นทางก่อนปล่อยลงสู่เขื่อนภูมิพล เป็นต้น
สำหรับการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งเพิ่มเติมจากเดิมที่ครอบคลุม 47 อำเภอ 21 ตำบล 1,902 หมู่บ้าน เพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอีก 10 อำเภอ 62 ตำบล 659 หมู่บ้าน ซึ่งนอกจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งทั้ง 8 มาตรการที่กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินการไปแล้ว ยังเร่งเดินหน้ามาตรการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยการจัดหาน้ำเข้าไปแจกจ่ายแก่ประชาชนในพื้นที่ และจะมีการหารือเรื่องการขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติมด้วย
ด้านนายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยาพบว่ามีพื้นที่ทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,968,000 ไร่ มีแนวโน้มทรงตัว ปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 520,000 ไร่ เหลือพื้นที่ที่ยังรอการเก็บเกี่ยวอีกประมาณ 1,450,000 ไร่ ซึ่งน้อยกว่าปี 2557/58 ที่ผ่านมา เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ได้นำมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล มารณรงค์ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ ส่วนผลการจ้างแรงงานตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั่วประเทศ ล่าสุด (ณ 26 ก.พ. 59) กรมชลประทานได้ดำเนินการจ้างแรงงานไปแล้วจำนวน 112,748 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 2,078.41 ล้านบาท จำแนกตามลุ่มน้ำได้ ดังนี้ 1.ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจำนวน 26,327 คน 2. ลุ่มน้ำแม่กลอง 9,280 คน และลุ่มน้ำอื่นๆ 77,141 คน
"ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทุกกิจกรรมการใช้น้ำ ให้ร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะคนเมืองหลวงและปริมณฑล ต้องตระหนักถึงการประหยัดน้ำให้มาก เนื่องจากภาคการเกษตรส่วนใหญ่ได้เสียสละงดการใช้น้ำเพื่อการทำนาปรังแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ตลอดจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้" นายสุรพล กล่าว