รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้จังหวัดประเมินสถานการณ์ปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคระดับครัวเรือนที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งถึงเดือนพฤษภาคม 2559 ในพื้นที่ 62 จังหวัด ยกเว้น 14 จังหวัดภาคใต้ โดยให้จังหวัดแจ้งทุกอำเภอดำเนินการสำรวจข้อมูลในพื้นที่ระดับครัวเรือน หมู่บ้าน ตำบล โดยใช้กลไกของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในการตรวจสอบข้อมูลของแต่ละหมู่บ้าน เพื่อเก็บข้อมูลจำนวนประชากร ข้อมูลน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค สภาพพื้นที่หมู่บ้านว่าตั้งอยู่ในเขตหรือนอกเขตชลประทาน รวมถึงข้อมูลการใช้น้ำประปา ทั้งประปาภูมิภาค ประปาท้องถิ่น หรือประปาอื่นๆ จำนวนแหล่งน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง บ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ และคาดการณ์ปริมาณน้ำอุปโภคบริโภคถึงเดือนพฤษภาคม 2559 เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ วางแผนการบริหารจัดการน้ำ และเตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นพิเศษ ได้แก่ บริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งพบว่ามีการใช้น้ำเพิ่มขึ้น จึงได้ประสานจังหวัดเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดมหาสารคาม ถึงสถานการณ์น้ำและความจำเป็นในการบริหารน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดช่วงฤดูแล้ง โดยลดการจ่ายน้ำและปรับเปลี่ยนช่วงเวลาในการจ่ายน้ำ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาน้ำสนับสนุนให้กับพื้นที่ขาดแคลนน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว
สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงเกินขีดความสามารถของจังหวัด สามารถขอรับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งจากส่วนกลาง พร้อมให้รายงานสถานการณ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาต่อกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
"ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำที่มีจำกัดอย่างประหยัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำและให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่ภาครัฐกำหนด ส่งผลให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งในครั้งนี้ไปได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน" นายสุปกิต กล่าว