นอกจากนี้ ให้จังหวัดใช้กลไก “ประชารัฐ" ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ความจำเป็นในการควบคุมกิจกรรมการใช้น้ำของภาครัฐ พร้อมบูรณาการฝ่ายพลเรือนและหน่วยทหารเฝ้าระวังบริเวณจุดเสี่ยงที่มักมีการลักลอบสูบน้ำและเกิดปัญหาแย่งน้ำ พร้อมจัดทำประชาคมกำหนดกติกาการใช้น้ำไว้ล่วงหน้า เพื่อจัดสรรการใช้น้ำอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม กรณีมีการลักลอบสูบน้ำ กั้นน้ำ และปัญหาแย่งน้ำของประชาชนในพื้นที่ ให้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว รวมถึงรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำให้เหมาะสม โดยวางแผนการใช้น้ำที่มีปริมาณจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะเกษตรกรให้ปรับ วิถีทำการเกษตรให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่ภาครัฐกำหนด ซึ่งจะทำให้มีน้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง
ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 14 จังหวัด 58 อำเภอ 276 ตำบล 2,361 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 3.15 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย และนครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม และบุรีรัมย์ ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี และเพชรบุรี ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว จันทบุรี และชลบุรี