"การประชุมวันนี้ อยากให้แต่ละประเทศมาร่วมกันกำหนดกรอบการทำงานเพื่อเดินหน้าในการนำไปปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับเร่งการขับเคลื่อนในช่วงนี้ให้เร็วสุด เพราะสถานการณ์โลกเคลื่อนไปข้างหน้า แต่จะต้องคำนึงถึงมนุษยชาติด้วย รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติในอีก 15 ปี"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อที่ประชุม ACD
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในฐานะที่ไทยเป็นประธานกลุ่ม ACD เห็นควรจะต้องมีการทบทวนและคลี่คลายปัญหาในเรื่องที่สำคัญ นำอดีตมาแก้ปัญหาเดินไปสู่ปัจจุบัน และกำหนดแผนอนาคตหรือโรดแมพการพัฒนาร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะทุกประเทศถือเป็นเพื่อน และจะต้องมีการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เพื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์โลกที่มีความเปลี่ยนแปลงและท้าทาย
ดังนั้น ACD ต้องปรับปรุงกลไกลการทำงานร่วมกัน สร้างความร่วมมืออย่างพึ่งพาอาศัยกัน เช่น การเปิดการแข่งขันที่เสรีต่อกัน พร้อมร่วมมือสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศ เพื่อให้กลุ่ม ACD มีที่ยืนในโลกอย่างสง่างาม ที่สำคัญแต่ละประเทศจะต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยการพัฒนาคนและเชื่อมโยงมาในกลุ่ม และไทยอยากเห็นแต่ละประเทศเป็นศูนย์กลางในแต่ละด้านเช่นเดียวกับไทยมีเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ไทยได้ดำเนินการมาแล้วและประสบผลสำเร็จตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริมากว่า 40 ปี เพื่อช่วยแก้ปัญหาประชาชนที่ยากจน และเชื่อว่าประเทศต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์และแลกเปลี่ยนกันได้ เช่นเดียวกับไทยที่มีการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติไว้ 20 ปี และขับเคลื่อนโครงการประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
นายกรัฐมนตรี ยังย้ำถึงการแลกเปลี่ยนในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา พลังงาน น้ำ ความมั่นคง และการเชื่อมโยงทางการท่องเที่ยว
สำหรับการประชุม ACD เป็นกรอบความร่วมมือที่จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2545 เพื่อเป็นเวทีของภูมิภาคเอเชียที่เชื่อมโยงประเทศต่างๆในเอเชียภายใต้บรรยากาศที่เป็นมิตรและไม่เป็นทางการ เปิดโอกาสให้มีการหารือระดับนโยบาย แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและหามาตรการส่งเสริมความร่วมมือรวมทั้งการแก้ปัญหาท้าทายต่างๆ โดยผสมผสานศักยภาพและจุดเด่นของประเทศต่างๆ ในเอเชีย ตลอดจนส่งเสริมกระบวนการรวมตัวในภูมิภาคและเสริมสร้างความเป็นเอเชียร่วมกัน
หัวข้อหลักการประชุมครั้งนี้คือ "ACD- The Way Forward" โดยประเทศไทยใช้โอกาสนี้หยิบยกประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำเสนอแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ประเทศสมาชิกได้ศึกษาและสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางหนึ่งเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573 ของสหประชาชาติ