"กฎหมายนี้คำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ไม่มีเจตนาสร้างความลำบากแก่ผู้ประกอบการหรือพนักงาน รปภ. แต่อยากขอความร่วมมือจากบริษัทต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นองค์กรธุรกิจ มีรายได้ เพิ่มการลงทุนอีกจำนวนหนึ่งเพื่อประโยชน์ในระยะยาว โดยจดทะเบียนเป็นบริษัทให้ถูกต้อง ยื่นขอรับใบอนุญาต และปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย พร้อมทั้งให้ความร่วมมือกับ จนท.ตำรวจในท้องที่นั้นๆ
ส่วนผู้ที่จะเป็นพนักงาน รปภ. ได้ จะต้องมีสัญชาติไทย จบ ม.3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับที่กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว เพื่อให้เป็นผู้ที่มีความรู้ในระดับที่เหมาะสม รู้เท่าทันเหตุการณ์ จะได้ปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องได้รับใบอนุญาต และมีหนังสือรับรองการฝึกอบรมหลักสูตร รปภ.ตามกฎหมาย โดยยื่นเรื่องที่ บช.น.หรือ บภ.จว. และไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น ไม่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติด ไม่วิกลจริต ไม่เคยถูกจำคุกในคดีร้ายแรง เป็นต้น"
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้พนักงาน รปภ.อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะประจำอยู่ทั้งในสถานที่ทำงานและที่พักอาศัย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานของทั้งบริษัทต้นสังกัดและตัวพนักงาน เพื่อให้เกิดความสบายใจแก่ผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกผู้ประกอบธุรกิจและพนักงานอาจมีความยุ่งยากบ้าง เพราะจะต้องจดทะเบียนบริษัท ยื่นขอรับใบอนุญาต หรือเข้ารับการฝึกอบรม แต่ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ในระยะต่อไปด้วย
ทั้งนี้ กฎหมายได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เป็นพนักงาน รปภ.ก่อนวันที่ 5 มี.ค. และต้องการปฏิบัติหน้าที่ต่อ สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตได้ภายใน 90 วัน รวมทั้งยังได้รับยกเว้นไม่ต้องผ่านการฝึกอบรมเป็นเวลา 3 ปี แต่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมจาก สตช.หากต้องการเป็น พนักงาน รปภ.ต่อไป
"ท่านนายกฯ ห่วงใยพี่น้องพนักงาน รปภ.และผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย ไม่อยากให้เข้าใจผิดในเจตนารมณ์ของรัฐบาล เพียงแต่ต้องการยกระดับมาตรฐานการประกอบธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับ และส่งเสริมให้อาชีพพนักงาน รปภ.มีเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นที่พึ่งของประชาชน โดยคาดหวังให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจ ในการป้องกันอาชญากรรมได้อีกทางหนึ่ง"