นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา) กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมชลประทาน ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ได้ร่วมกันวางแผนการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์เฉพาะเพื่อการอุปโภคบริโภคด้านท้ายเขื่อน โดยมีมติให้มีการระบายน้ำวันละ 500,000 – 800,000 ลูกบาศก์เมตร ไม่มีการส่งน้ำเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร จึงขอให้ทุกภาคส่วนการใช้น้ำ ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด มั่นใจปริมาณน้ำเพียงพอใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้อย่างแน่นอน
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(21 มี.ค.) ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อน (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำคงเหลือรวมกัน 2,582 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มีการระบายน้ำรวมกันประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการใช้น้ำในปัจจุบันยังคงเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ และจะเพียงพอใช้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้แน่นอน หากทุกฝ่ายทุกภาคกิจกรรมการใช้น้ำ ร่วมแรงร่วมใจกันประหยัดน้ำอย่างจริงจัง มั่นใจว่าจะสามารถรอดพ้นสภาวะวิกฤตแล้งปีนี้ไปได้
ในส่วนของค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว หลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีค่าความเค็มเพิ่มสูงขึ้น จนถึงบริเวณจุดสูบน้ำดิบสำแล ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว การประปานครหลวงจะไม่มีการสูบน้ำไปใช้ โดยจะสูบเฉพาะในช่วงที่น้ำทะเลลงต่ำและค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้วเท่านั้น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาแต่อย่างใด