นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งหลายพื้นที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำมากขึ้น โดยปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 18 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 68 อำเภอ 306 ตำบล 2,580 หมู่บ้าน คิดเป็น 3.44% ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย นครสวรรค์ และน่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ สุรินทร์ และขอนแก่น ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เพชรบุรี และชัยนาท ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว จันทบุรี และชลบุรี
ทั้งนี้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งให้ครอบคลุมทุกมิติและทุกกลุ่ม ทั้งประชาชนในพื้นที่ประสบภัยและผู้ที่ได้รับผลกระทบ อาทิ เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ใช้น้ำทั่วไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
โดยการดำเนินการแยกเป็น 3 ส่วน คือ 1.การให้ข้อมูลสถานการณ์ภัยแล้งที่ถูกต้องแก่ประชาชน ทั้งแผนการบริหารจัดการน้ำต้นทุน ปริมาณน้ำในเขตชลประทาน นอกเขตชลประทาน ปริมาณน้ำบนดินและน้ำใต้ดิน 2.การทำงานเป็นทีมรัฐบาลของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน อาสาสมัคร และท้องถิ่น และ 3.การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในรูปแบบทีมงานประชารัฐ
สำหรับการดำเนินงานในระดับพื้นที่จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทำหน้าที่บูรณาการงานของกระทรวงต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งครอบคลุมทั้งการรณรงค์ประหยัดน้ำ การสร้างอาชีพและรายได้แก่เกษตรกร การดูแลสุขภาพ การป้องกันโรคระบาด และอาชญากรรม ซึ่งเป็นการซ้ำเติมให้ผู้ประสบภัยได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น อีกทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุนอย่างชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเป็นหลัก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการทำให้ประชาชนทั่วประเทศมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอและทั่วถึงตลอดช่วงฤดูแล้ง หากจุดใดที่ประสบปัญหาแหล่งน้ำดิบไม่เพียงพอจะได้ประสานให้เตรียมภาชนะกักเก็บน้ำกลางและส่งน้ำสะอาดสนับสนุนให้ประชาชนอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ