ครม.รับหลักการร่างกม.นำต่างด้าวเข้ามาทำงานฯ แต่ขอกฤษฏีกาทบทวนว่าต้องออกเป็นพ.ร.ก.หรือไม่

ข่าวทั่วไป Tuesday March 29, 2016 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการที่กระทรวงแรงงานเสนอในร่าง พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ โดยได้มีการร่างกฎหมายให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ทั้งบริษัทจัดหางาน, นายจ้าง และลูกจ้าง

"เดิมเรามีข้อตกลงที่ไทยทำไว้กับเมียนมา ลาว กัมพูชา เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันในการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน เดิมเราอาศัยระบบการบริหารราชการแผ่นดิน อาศัยกฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนงานมาบังคับใช้ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมวิธีการ รายละเอียด และหลักเกณฑ์ที่ได้พัฒนาไปตามสภาพการณ์ในปัจจุบัน จึงได้มีการเสนอ ร่าง พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ รายละเอียดที่น่าสนใจ คือ ผู้ที่จะสามารถนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาได้มี 2 กรณี คือ 1.นายจ้างที่จะรับคนเข้ามาทำงานเองโดยตรง 2.การรับคนงานผ่านบริษัทที่จัดหางาน ซึ่งบริษัทดังกล่าวจะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท และมีหลักประกันไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท เผื่อว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะสามารถเอาผิดได้ นอกจากนี้ ยังกำหนดว่าผู้ที่มีหุ้นอยู่ในบริษัทที่รับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานนั้น จะต้องเป็นคนไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนผู้ถือหุ้น

"กฎหมายนี้ต้องการจะตอบโจทย์เรื่องปัญหาแรงงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ และตอบโจทย์ให้ประเทศต่างๆ ที่เฝ้าจับตาเราอยู่ โดยเฉพาะ Tier 3 มีความรู้สึกว่าเราได้พยายามแก้ไขปัญหาถูกทาง และตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ" พล.ต.สรรเสริญ ระบุ

อย่างไรก็ดี ได้มีการตั้งข้อสังเกตจากคณะรัฐมนตรี โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ที่จะต้องออกเป็น พ.ร.ก. เนื่องจากในมาตรา 2 ของร่างกฎหมายฉบับนี้กลับระบุว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 180 วัน ซึ่งแสดงว่าไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วน

นอกจากนี้ในมาตรา 8 ยังระบุว่า กรณีที่มีเหตุผลพิเศษ รัฐมนตรีสามารถยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงานอีก 5 ฉบับได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่ควรจะกำหนดไว้กว้างๆ แต่ควรกำหนดลงไปให้ชัดเจนว่ากรณีเหตุผลพิเศษคืออะไร

"เมื่อเป็นเช่นนี้ ครม.จึงให้เอาเรื่องนี้กลับไปทบทวนในขั้นของกฤษฎีกาว่ามีความจำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก.หรือไม่ ถ้าไม่จำเป็น ก็ออกเป็นร่าง พ.ร.บ.แล้วนำกลับมาที่ ครม.อีกครั้ง แต่ถ้าเห็นว่าส่วนใดมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องออกมาบังคับใช้ก่อน ก็ให้แยกออกเป็นคำสั่งตาม มาตรา 44 ของหัวหน้าคสช. และส่วนที่เหลือให้ทำเป็นร่าง พ.ร.บ.มาให้พิจารณาอีกครั้ง เรื่องนี้ ครม.รับหลักการ แต่ให้ไปพิจารณาในขั้นของกฤษฎีกา" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ